BY Aisoon Srikum
6 Sep 21 5:46 pm

เกมเต็มคลังแต่ไม่รู้จะเล่นอะไรดี พบกับเทคนิคสารพัดวิธีทลายคลังเกมที่ดองจนเค็ม

23 Views

สำหรับเกมเมอร์อย่างเรา ๆ มักจะมีนิสัยติดตัวอย่างหนึ่ง นั่นคือการชอบซื้อ แต่ไม่ชอบเล่น มีเกมเต็มคลัง เต็มไอดีไปหมด แต่ก็ยังบ่นว่าไม่มีอะไรจะเล่น และยังซื้อเพิ่มอยู่ทุกเกม ๆ สำหรับบางคนมันคือความสุขของการสะสมเกม แต่กับบางคนอาจจะอยากหาวิธีจริงจังในการัจดการปัญหานี้ เพราะไม่อยากจะดองเกมไว้เต็มไอดีอีกต่อไป หากใครอยากหาวิธีขจัดเกมดองกันอย่างจริงจัง วันนี้มาดูกันว่าจะทำยังไงได้บ้าง

การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล

ใครยังจำวันวานที่เราอยากจะได้เกมใหม่ ต้องเดินไปซื้อตามร้านกันได้ น่าจะเข้าใจถึงคุณค่าของการได้รับเกมใหม่แต่ละเกม จ่ายเงินได้แผ่นเกมหรือตลับเกมมาก็อยากจะพุ่งกลับบ้าน เพื่อเล่นเกมใหม่ และเล่นมันให้คุ้มค่าที่สุด แต่ในปัจจุบัน ร้านค้าต่าง ๆ ล้วนเป็นออนไลน์หรือดิจิทัลเป็นส่วนมาก คลิกไม่กี่คลิก เงินก็จะปลิวหายไปจากบัญชีคุณ และได้เกมใหม่มาไว้ในคลังอย่างง่าย ๆ เราไม่ได้หมายความว่ายุคสมัยก่อนที่ลำบากกว่ามันดีกว่า แต่คุณค่าทางอารมณ์และความรู้สึกมันต่างกัน และในเมื่อทุกอย่างมันง่ายขึ้น เราก็เสียเงินกับมันได้ง่ายขึ้นด้วย กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็กลายเป็นนักสะสม (หรือดอง) เกมตัวยงไปซะแล้ว

การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่ดี แต่การเข้าถึงง่ายขึ้นก็อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนจ่ายเงินสะสมเกมมากกว่านักเล่นเกมแทน แน่นอนว่าบางคนอาจจะไม่ชอบนิสัยนี้ของตัวเองเอาซะเลย และถ้าอยากเลิกเป็นนักดองเกม ที่มีเกมล้นคลังแทบจะทุกแพลตฟอร์ม ควรทำยังไงดี มาเริ่มต้นกันเลย

ใช้แพลตฟอร์ม GOG ให้เป็นประโยชน์ ในการรวบรวมเกมที่คุณมีและจัดการแบ่งหมวดหมู่

คุณเคยหรือไม่ เวลาเปิด Netflix เพื่อจะหาหนังหรือซีรีส์สักเรื่องดู แล้วก็พบว่ามันมีมากมายก่ายกองเต็มไปหมด สุดท้ายก็จบที่ขี้เกียจเลือกต่อแล้วก็ปิดแอปไปทำอย่างอื่นแทน ปัญหานี้เกิดขึ้นเหมือนกันโดยเฉพาะกับคลังเกมของคุณที่อาจจะมีเกมมากกว่าหนังให้เลือกดูบนแอปซะด้วยซ้ำไป แถมยุคนี้ แพลตฟอร์มเกมต่าง ๆ ยังชอบขายแยกกันอีก เกมนี้ลง Epic Games Store ก่อน เกมนี้ลง Steam เกมนี้ลงบน Ubisoft Connect เชื่อเถอะว่ามีหลายเกมที่คุณอาจจะซื้อมาไว้นานแล้ว แต่ลืมไปว่ามันอยู่บนแพลตฟอร์มนี้โดยไม่รู้ตัว และแพลตฟอร์มที่จะช่วยคุณแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจังก็คือ GOG

GOG คือแพลตฟอร์มของ CD Projekt RED ค่ายเกมชื่อดังเจ้าของผลงาน The Witcher 3 และ Cyberpunk 2077 แม้ว่าเกมใหม่ของพวกเขาจะย่ำแย่ไปเสียหน่อย แต่เรื่องแพลตฟอร์มนั่้นต้องยกให้เขาเลย GOG มีความสามารถในการรวบรวมเอาเกมทุกเกมที่มีอยู่บนเครื่องคุณ ถึงแม้จะคนละแพลตฟอร์ม ให้มารวมกันไว้บนแพลตฟอร์มเดียวของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น Steam, GOG, Uplay หรือแม้แต่ XBOX Live กับ Playstation เองก็ทำได้ ทำให้คุณสามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมดว่า คุณเป็นเจ้าของเกมอยู่กี่เกม บนแพลตฟอร์มใดบ้าง

เมื่อคุณรวบรวมเกมทั้งหมดที่เป็นเจ้าของมาไว้ตรงหน้าได้เรียบร้อย ก็ถึงเวลาคัดกรอง หรือแบ่งแยกหมวดหมู่ออก บนแพลตฟอร์ม GOG คุณสามารถจัดการคลังเกมของตัวเองได้อย่างเต็มที่ กำหนดแท็กของเกม แบ่งหมวดหมู่ตามชื่อเกม หรือตามแนวเกม GOG สามารถทำได้ทั้งหมด เช่น เราสามารถแบ่งเกมออกเป็น 3 หมวด คือ กำลังเล่น / ยังไม่ได้เล่น / เล่นแล้ว หรืออาจจะ ไม่คิดจะเล่น ซึ่งเราสามารถแยกหมวดหมู่ แล้วนำเกมเข้าไว้ในลิสต์เหล่านี้ได้เลย โดยใช้แพลตฟอร์ม GOG ช่วยเหลือ

เพียงเท่านี้คุณก็จะเห็นภาพรวมของคลังเกมทั้งหมดของคุณ แล้วค่อยมานั่งคัดเอาว่า จะเล่นหรือไม่เล่นอะไรก่อนดี แพลตฟอร์ม GOG นี้ถือเป็นแพลตฟอร์มระดับเทพที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก และมันตัดปัญหาคนที่ขี้เกียจล็อกอินหลายแพลตฟอร์มไว้ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากจำรหัสแพลตฟอร์มนั้นให้ได้ก็เพียงพอแล้ว

เลิกซื้อเกมเพิ่ม จำไว้ว่าเกมไม่เคยแพงขึ้น มีแต่ถูกลงเรื่อย ๆ

เมื่อคุณจัดการคลังเกมของคุณให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญต่อไป สำหรับคนที่มีเกมล้นคลังอยู่แล้วคือ “หยุดซื้อเกมเพิ่ม” สำหรับคอเกมเมอร์ก็เหมือนกับหนึ่งในนักช็อปปิ้งตัวยง หรือสาว ๆ ที่ชอบซื้อเสื้อผ้าหรือหนอนหนังสือที่ชอบซื้อหนังสือ เราจ่ายเงินเร็วกว่าที่เราจะเสพของเก่าได้หมด แน่นอนว่ามันไม่ผิด แต่คิดว่ามันต้องมีบ้างบางคน ที่จ่ายเงินซื้อเกมมาตั้งแต่วันแรก แล้วก็ดองเอาไว้ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม งานเยอะ ไม่มีเวลาเล่น หรือดองเองแล้วลืม) จนเกมมันลดราคา แล้วมานั่งเสียใจทีหลังว่าไม่น่ารีบซื้อเลย

เว็บไซต์ Weird.com ชี้ชัดว่า เกมไม่ใช่ Bitcoin ถ้าไม่ใช่แพคเกจ Collector’s Edition สำหรับนักสะสม คุณค่าของมันมีแต่จะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น คุณอาจจะนำเกมที่ต้องการใส่ Wishlist เอาไว้ก่อน แล้วรอลดราคาค่อยกดซื้อก็ได้ ปกติแล้วระบบ Wishlist เมื่อมีเกมลดราคาจะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปนั้นอยู่แล้วด้วย ปกติแล้วในยุคนี้ เกมใหม่ที่ออกวางจำหน่าย เต็มที่ ภายใน 1-2 เดือน ก็จะลดราคาลง 10-25% เป็นอย่างต่ำ ถ้าคุณซื้อมาแล้วไม่มีเวลาเล่นภายในช่วงเวลานี้ก็เตรียมตัวหลังหักกันได้เลย

ไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับเทคนิคนี้ แต่ละคนอาจจะเจอภาระงานแทรกแซงที่ไม่เหมือนกัน หรือไม่เท่ากัน และแต่คนก็อาจจะใช้จ่ายเงินไม่เหมือนกันอีกด้วย หากคุณเป็นคนที่มีใจรักวงการเกม อยากให้ผู้พัฒนาได้เงินจากการทำเกมก็อาจจะยอมเสียเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยใน Day 1 เพื่อสนับสนุนทีมพัฒนา แต่ใครที่ปัญหาการเงินยังมี สภาพการเงินไม่ได้คล่อง อย่าลืมว่าเอ็นดูเขา เอ็นเราขาด หรือใช้จ่ายเงินให้พอดีจะดีกว่า รอลดราคาก็ได้ หรือถ้าจะดีกว่านั้น บางเกมก็อาจจะนำมาแจกฟรีโดยที่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อสักแดงเดียวก็ได้เช่นกัน

แต่สำหรับคนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม การได้เข้าถึงเกมบางเกมก่อนอาจเป็นช่องทางที่ดีกว่า และนั่นเป็นปัญหาส่วนตัวและวิธีการจัดการของแต่ละคน ว่าจะทำยังไงถึงจะเวิร์คและคุ้มค่ากับคุณที่สุด ไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่ละคนต้องลองหาวิธีการของตัวเอง

เล่นเกมด้วย Easy Mode

ปกติแล้วเวลาเราเล่นเกม หากเล่นแบบปกติเราก็มักจะเลือกโหมดความยากระดับปานกลาง หรือ Medium / Normal Mode เป็นหลัก แต่สำหรับคนที่ตั้งใจจะเคลียร์เกมดองแล้ว ก็อย่าไปกลัวหรืออายที่จะเล่นเกมแค่โหมดง่าย / Easy Mode หรือ Just the Story! โหมดความยากประเภทนี้อาจทำให้เกมจบลงได้อย่างรวดเร็วด้วยความง่ายของเกมที่ต่างกับโหมด Normal อย่างมาก ข้อดีคือคุณสามารถจบเกมได้เร็วกว่าปกติ อาจจะ 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แล้วแต่ประเภทของเกม แต่ข้อเสียคือความสนุกของมันอาจจะลดลงไปมากพอสมควร เพราะโหมด Easy ของบางเกมนั้นมันง่ายจนเหมือนคุณโกงเกมกันเลยทีเดียว แต่ก็เลือกเอาว่า คุณอยากขจัดเกมดองในคลังหรือไม่ ถ้าอยาก โหมดง่ายก็คือคำตอบ และถ้าคุณอยากรู้เนื้อเรื่องหรือโลกของเกมมากขึ้น ทุกวันนี้มีบทสรุปอยู่เยอะแยะ บางเจ้าก็สปอยล์กันยับเยินตั้งแต่ต้นจนจบแทบจะทุกไดอะล็อกอยู่แล้ว ดังนั้นหากคุณอยากขจัดเกมดองให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ไม่ต้องเขินตัวเองที่ยอมกดโหมดง่าย จุดประสงค์เราคือเล่นเกมให้จบ เคลียร์เกมให้ไวอยู่แล้ว

เลือกเล่นเกมสั้น ๆ หรือเกมเส้นตรงก่อน

แนวเกมในปัจจุบันนั้น มีหลากหลายมาก คุณอาจจะสนใจเกม AAA ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ทั่วโลกในตอนนี้ แต่ถ้ามันเป็นเกมที่กินเวลาในการเล่นอย่างมหาศาล คุณอาจจะเล่นมันไม่จบก่อนก็เป็นได้ สมมติเช่นเกม Open World ทั้งหลายที่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 40-50 ชั่วโมงในการจบเกม ถ้าคุณคิดว่าเอาอยู่ ซัดยับ ๆ วันละหลายชั่วโมงได้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าเวลาคุณมีจำกัด การเคลียร์เกมที่มีความยาวมหาศาลอาจจะทำให้การเคลียร์เกมดองของคุณนั้นช้ากว่าที่คิดไว้ ดังนั้นคุณอาจจะเลือกเล่นเกมที่มีความยาวไม่มาก หรือเกมเส้นตรงไปก่อน เพื่อเคลียร์เกมให้จบได้

ในวงการการเงินส่วนบุคคล แนวคิดนี้เรียกว่า Debt Snowball หรือให้คุณชำระหนี้ก้อนที่น้อยที่สุดก่อน การชำระหนี้ก้อนน้อยที่สุด หรือเล่นเกมที่มีความยาวไม่มาก เมื่อคุณเล่นจนจบ จะกลายเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจในการไปต่อได้อย่างไม่ยากเย็น และเมื่อเคลียร์เกมไปได้สัก 2-3 เกม คุณก็อาจจะขยับขึ้นไปเล่นเกมที่สเกลใหญ่ขึ้น หรือเป็นแนว Open World ก็ได้ ใช้วิธีนี้ค่อย ๆ เคลียร์เกมไปเรื่อย ๆ รับรองว่าต้องมีจำนวนเกมที่เราเล่นจบมากขึ้นอย่างแน่นอน

หากใครไม่แน่ใจว่าเกมแต่ละเกม มีความสั้น ความยาวขนาดไหน เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง How Long to Beat สามารถช่วยคุณได้ และสามารถวางแผนการเล่นได้เลย ว่าคุณจะใช้เวลาเล่นเกมนี้คร่าว ๆ ประมาณกี่ชั่วโมงกันแน่

เกมไหนไม่สนุกก็อย่าฝืน เลิกเล่นเกมกลางทางไม่เสียหาย

หลายเกมที่คนทั้งโลกบอกว่าสนุก เราอาจจะไม่ชอบ หรือเกมที่คนไม่ชอบ เราอาจจะรักมันมาก ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนกันทั้งหมด เราอาจจะกดซื้อเกมบางเกมมา เพราะเห็นว่ามันลดราคา และเป็นเกมที่หลายคนบอกว่าดี แต่พอเล่นด้วยตัวเองแล้ว เรากลับไม่สนุกกับมันมากเท่าที่ควร ถ้าโชคดี เราอาจจะขอคืนเงินได้ทัน แต่ถ้ากดเกมมานานแล้ว ดองจนเค็มแล้ว หรือเล่นจนเกิน 2-3 ชั่วโมงไปแล้ว ก็ยากที่จะขอคืนเงิน และทำได้แค่ให้มันกลายเป็นเกมในชุดสะสมของเราเท่านั้น

สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ เราไม่จำเป็นต้องสนุกไปกับทุกเกมก็ได้ ถ้าเกมไหนที่เราเล่นแล้วรู้สึกว่าไม่โอเค ไม่สนุก หรือไม่รู้จะเล่นไปทำไม การเลิกเล่นเกมนั้นกลางทางเลยก็ไม่ใช่เรื่องผิด มันจะช่วยให้เรามูฟออนไปหาเกมใหม่ต่อได้ไวมากขึ้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนกันไปซะหมด เราอาจจะชอบเกมอื่นที่คนไม่ชอบก็ได้ ไม่มีปัญหา อย่าลืมว่าเราเสียเงินซื้อเกมมาเล่น สนุกหรือไม่สนุกก็ไม่มีใครมาบอกเราได้ นอกจากตัวเองอยู่แล้ว หลังจากที่ได้เล่นมัน

คิดซะว่าเล่นเกมก็เหมือนมีความรัก ฝืนคบ ฝืนอยู่กับคนที่ไม่ใช่ นานวันเข้าก็มีแต่เสียใจ เสียเวลา มูฟออนกันดีกว่านะ

วิถีคนจริง ขอให้ระบบ Remove เกมทิ้งจากคลัง แต่ไม่เอาเงินคืน !

หากใครอยากเดินทางสายหล่อ จา่ยเงินให้ผู้พัฒนาไปแล้ว แต่ไม่อยากได้เกมนี้ติดคลังอีกต่อไป ก็สามารถทำเรื่องขอลบเกมถาวรออกจากรหัส Steam ของคุณได้ โดยทำการยื่นเรื่องใน Steam Support (steampowered.com) โดยขอให้ลบเกมทิ้งได้เลย โดยระบบจะถามคุณว่า นี่ไม่ใช่การขอคืนเงิน โปรดพิจารณาให้ดี แต่ถ้าใครคิดว่าดีแล้ว ก็เอาเลย หนทางฮีโร่ ผู้พัฒนาได้เงิน แต่เราไม่อยากเอาเกมไว้นี่ !

สุดท้ายนี้ อย่างที่บอกไป การดองเกมไม่ใช่เรื่องผิด ผู้เขียนเองก็มีบ้างที่ดองเกมจนเค็ม กดเกมราคาเต็ม Day 1 แต่ไม่เล่นจนราคาลด มันถือเป็นเรื่องปกติ ยิ่งถ้าคุณชอบสะสมเกม เห็นตัวเลขยอดเกมในคลังเยอะขึ้นแล้วฟิน ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ารู้สึกว่าเราอยากจะควบคุมปัญหานี้ เพราะมันส่งผลกระทบไปจนถึงเรื่องเงินที่ต้องใช้จ่าย ก็หวังว่าบทความและเทคนิคตัวนี้จะช่วยคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top