BY Nattapit Arsirawatvanit
1 Jun 23 2:21 pm

ปูพื้นฐานก่อนเล่น Final Fantasy XVI การเดิมพันครั้งใหญ่ของ Square Enix

188 Views

Final Fantasy ที่ทุกคนรัก กำลังจะรีเทิร์นกลับมาให้ภาค 16นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่ภาคหลังของซีรีส์นี้ไม่ได้รับการสานต่อ ครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการเดิมพันครั้งสำคัญ ว่าจะกู้ความรุ่งโรจน์ของซีรีส์ให้กลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ หลังจากประสบปัญหาด้านคำวิจารณ์มาตั้งแต่ภาค 13 เมื่อหลายสิบปีก่อน

และเพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักของการเดิมพัน Square Enix ระดมยอดฝีมือระดับหัวกะทิในทุก ๆ ภาคส่วนมากองรวมกันไว้ในภาคนี้ เพื่อพัฒนา “สุดยอดเกม” ขึ้นมา โดยการทลายกำแพงทุก ๆ อย่างเท่าที่ทำได้ คลายกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่รัดตัวผู้พัฒนาไว้ เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ที่จะกลายเป็น “อนาคต” ให้กับซีรีส์ Final Fantasy

กว่าจะเป็น “ดรีมทีม” แห่ง Square Enix

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2015 โยซูเกะ มัตซูดะ ซีอีโอของ Square Enix ณ ตอนนั้น ได้ติดต่อ โยชิพี (นาโอกิ โยชิดะ) ผู้กอบกู้ของค่าย ให้เข้ามารับหน้าที่กำกับไฟนอลภาคใหม่ โยชิพีตอบรับงานนี้แม้จะแบก Final Fantasy XIV อยู่ ณ ขนาดนั้น โดยเขาฟอร์มทีมเล็ก ๆ ขึ้นมา ประกอบด้วยตัวเอง, คาซึโตโยะ มาเอะฮิโระ และ มิซึโตชิ กอนได เพื่อทำงานนี้ ทั้งสามคนร่วมงานกันในการพัฒนาภาค 14 อยู่แล้ว เลยสามารถสื่อสารกันได้อย่างไม่ติดขัด แต่เพราะในตอนนั้น โยชิพี ไม่สามารถแบกการพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่พร้อม ๆ กันถึงสองโปรเจกต์ได้ เขาก็เลยดึง ฮิโรชิ ทาคาอิ อีกหนึ่งคนที่ร่วมงานกันในภาค 14 มาเป็นผู้กำกับให้ และตัวเองถอยไปรับหน้าที่โปรดิวเซอร์เพียงอย่างเดียว

เมื่อฟอร์มดรีมทีมได้สำเร็จ การพัฒนา Final Fantasy XVI ก็เริ่มต้นขึ้น ในส่วนของเนื้อเรื่อง โยชิพีอยากให้เกมภาคนี้มีความเป็นดาร์คแฟนตาซีแบบผู้ใหญ่ และไม่อยากให้ข้อจำกัดเดิม ๆ มาเป็นกรอบการพัฒนา ภาคนี้จึงมีเรตติ้งที่แตกต่างจากภาคก่อน ๆ อีกทั้งมีการพิจารณาตัดเวอร์ชัน PlayStation 4 ออกไป เพื่อไม่ให้ห่วงหน้าพะวงหลังเวลาพัฒนา เกมจะได้ออกมาอย่างที่เขาอยากให้เป็น

บทของเกมถูกเขียนขึ้นด้วยฝีมือของมาเอะฮิโระ ที่โยชิพีชื่นชอบมาตั้งแต่ตอนทำงานด้วยกันแล้ว โดยการออกแบบเนื้อเรื่องจะเน้นไปที่การเล่าเรื่องของตัวเอกโดยเฉพาะ ไม่ใช่การโยนเซ็ตติ้งให้ก่อร่างสร้างตัวเองแบบภาคก่อน ๆ ทำให้ผู้เล่นจดจ่อได้ดีขึ้น และลดความเบื่อหน่ายสำหรับคนที่อยากเล่นเกม แต่อาจจะไม่อินกับการเรียนรู้เรื่องราวของโลกไปพร้อม ๆ กับการเล่น

ในด้านระบบการต่อสู้ โยชิพีออกสำรวจความเห็นของผู้เล่นเกมในแต่ละแบบ ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้ “เกมแอคชัน” เป็นต้นแบบของระบบต่อสู้ และมันจะต้องเป็นแอคชันจ๋าแบบไม่มีการประณีประนอม ในตอนแรก โยชิพีก็กังวลเหมือนกันว่าจะเสียฐานแฟนเก่าของซีรีส์ไป แต่ถ้าหากยังฝืนใช้วิธีประนีประนอมไม่เด็ดขาด เกมอาจจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิดไว้ได้ ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะไปให้สุดทาง

เริ่มจากการจ้าง เรียวตะ ซูซูกิ ที่เคยทำงานในฐานะ Battle Designer ของ Devil May Cry มาออกแบบระบบการต่อสู้ให้ โดยกำหนดให้ในภาคนี้ เราสามารถบังคับตัวละครได้ทีละตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการบังคับ Clive ตัวเอกของเกม ตะลุยผ่านแผนที่ Open Field ขนาดใหญ่หลาย ๆ แผนที่ และเมื่อพบกับมอนสเตอร์ เกมจะบังคับให้คุณเข้าฉากต่อสู้ทันที ซึ่งฉากเหล่านี้จะไม่มีการโหลด ทุกอย่างจะเป็นเรียลไทม์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 

Summon หรือที่เรียกว่า Eikon ในภาคนี้ จะไม่ใช่สิ่งที่เรียกออกมาได้บ่อย ๆ เหมือนภาคที่ผ่าน ๆ มา แต่มันจะเป็นตัวแปรสำคัญในฉากใดฉากหนึ่ง การต่อสู้ หรือการควบคุม Eikon จะให้ความรู้สึกเหมือนดูภาพยนตร์ Box Office ไคจูปะทะไคจู โดยแต่ละฉากจะให้อารมณ์ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันคือความยิ่งใหญ่และสะใจที่ผู้กำกับอยากให้ผู้เล่นรู้สึก

ในเรื่องเพลงของภาคนี้ แน่นอนว่าในเมื่อยกทีมทำภาค 14 มาแล้ว ก็ต้องเป็น โซเค็น (มาซาโยชิ โซเก็ง) อย่างไม่ต้องสงสัย ใครที่เป็นแฟนเกมนี้น่าจะรู้ถึงกิตติศัพท์ของชายคนนี้ดีอยู่แล้ว โดยการออกแบบเพลงในภาคนี้จะมีความมืดหม่นที่มากขึ้นกว่าที่เคยทำในภาค 14 แต่โดยรวมก็จะเข้ากับบริบทของอารมณ์ ณ ขณะนั้นของตัวละคร รวมถึงผู้เล่นอย่างแน่นอน

หลังจากรวมทีม พร้อมวางคอนเซปต์ในเรื่องต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว Final Fantasy XVI ก็ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ก่อนจะประกาศ Gone Gold เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นเวลากว่า 8 ปีที่ทีมงานรังสรรค์เกมนี้ขึ้นมา เพื่อเดิมพัน Final Fantasy ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

รู้จัก Valisthea ดินแดนแห่งสงคราม

Valisthea เป็นดินแดนหลักของโลก Final Fantasy XVI โดยจะแบ่งเป็นสองทวีป ฝั่งตะวันตกจะเรียกว่า Storm ส่วนฝั่งตะวันออกจะเรียกว่า Ash ผืนดินทั้งหมดมีสิ่งที่เรียกว่า Mothercrystals คริสตัลสูงใหญ่ลักษณะคล้ายภูเขาปักอยู่รอบ ๆ โลก แต่ละชิ้นมีความสามารถในการ “ให้พร” ทำให้ประชาชนรอบ ๆ ใช้ประโยชน์จากมันในทางใดทางหนึ่ง ไปจนถึงมีการตั้งประเทศต่าง ๆ ล้อมรอบคริสตัลเพื่อเคลมทรัพยากรต่าง ๆ มาเป็นของตนเอง

ดินแดน Valisthea แบ่งออกเป็น 6 อาณาจักรใหญ่ ประกอบไปด้วย

  • Rosaria อาณาจักรของตัวเอก อยู่ทางตะวันตกของ Valisthea
  • Sanbreque หรือจักรวรรดิ อาณาจักรการปกครองที่ใหญ่ที่สุดใน Valisthea บูชาผู้ปกครองเป็นเทพองค์เดียวเท่านั้น
  • Waloed อาณาจักรที่เคลมตัวเองว่า ปกครองฝั่งตะวันออก หรือ Ash โดยเบ็ดเสร็จ พร้อมจะเปิดสงครามกับอาณาจักรข้างเคียง
  • Dhalmekian Republic อาณาจักรที่ประกอบด้วย 5 รัฐย่อย ๆ และมีรัฐสภาเป็นผู้ปกครอง
  • Iron Kingdom กลุ่มเกาะที่บูชาคริสตัลราวกับศาสนา ปลีกตัวออกจากแผ่นดินหลัก มีภาษาของตัวเอง
  • Crystalline Dominion อาณาจักรที่อยู่กึ่งกลาง Valisthea ทำให้เป็นจุดที่เกิดการปะทะขึ้นบ่อยมาก ก่อนทุกอาณาจักรจะลงนามร่วมกันเพื่อให้พื้นที่นี้ปลอดการปะทะ และทุกคนได้รับพรจาก Mothercrystals เท่า ๆ กัน

ในแผ่นดิน Valisthea จะมีสิ่งที่เรียกว่า Dominant ผู้ที่มีความสามารถในการควบคุม Eikon ไคจูขนาดยักษ์ผู้เป็นตัวแทนของธาตุต่าง ๆ กระจายอยู่รอบ ๆ แต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปตามแต่ที่สังคมจะมอบให้ เช่น Dominant of Fire จะเป็นผู้ปกครอง Rosaria หรือ Dominant of Earth จะเป็นที่ปรึกษาของ Dhalmekian Republic  เป็นต้น

Clive Rosfield เป็นใคร? 

Clive Rosfield (ไคล์ฟ รอสฟิลด์) เป็นตัวเอกของเกมภาคนี้ เขาเป็นลูกชายคนโตของอาร์คดยุคแห่ง Rosaria เขาถูกคาดหวังให้เป็น Dominant of Fire ผู้ปกครองแห่ง Phoenix เพื่อขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่มีใครโต้แย้ง แต่จนแล้วจนรอด พลังของ Dominant ก็ไม่ได้แสดงออกมาในตัวเขา กลับไปแสดงใน Joshua Rosfield น้องชายของเขาแทน เขาจึงฝึกฝนร่างกายอย่างหนักเพื่อปกป้องน้องชาย

แต่จากเหตุการณ์ Eikon ลึกลับถล่ม Rosaria จนราบ Clive Rosfield จึงเข้าสู่วังวนแห่งความแก้แค้น มีชีวิตอยู่เพื่อไล่ล่าหาฆาตกรผู้ทำร้ายครอบครัวของตน โดยที่ไม่รู้เลยว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง

ความพิเศษของ Clive คือเขาได้รับพรจากเหล่า Dominant ทำให้ยืมพลังบางส่วนของ Eikon มาใช้งานได้อย่างอิสระ สิ่งนี้เรียกว่า Eikonic Ability

ระบบการต่อสู้

การต่อสู้ของ Final Fantasy XVI ไม่หยิบระบบของภาคใด ๆ มาใช้เลย ด้วยฝีมือการดีไซน์ของเรียวตะ ซูซูกิ อดีตทีมงาน Devil May Cry ทำให้ไฟนอลภาคนี้กลายเป็นเกมแอคชันอย่างเต็มตัว ไม่มีการรอเวลา ไม่มีมานา ทุกอย่างเน้นการไหลลื่นไม่มีสะดุด

เราได้เล่นเป็น Clive Rosfield บุรุษนักรบผู้ใช้ดาบเป็นอาวุธ เราสามารถโจมตีปกติ กระโดด ยิงเวทไฟเป็นกระสุน Projectile ออกมาได้ รวมถึงใช้สิ่งที่เรียกว่า Phoenix Shift ในการพุ่งเข้าหาศัตรูอย่างรวดเร็ว ท่าโจมตีพิเศษในเกมนี้จะเรียกว่า Eikonic Ability ซึ่งเป็นสกิลที่ Clive ยืมพลังมาจาก Eikon โดยจะเป็นท่าใหญ่ที่มีคูลดาวน์

ศัตรูระดับ Miniboss หรือ Boss ในเกมนี้ จะมีหลอดสีเหลืองด้านล่าง ทำหน้าที่คล้ายหลอดพลังป้องกัน เมื่อผู้เล่นจู่โจมไปเรื่อย ๆ จนลดลงถึงครึ่งหลอด ศัตรูจะชะงัก เปิดโอกาสให้เราใส่คอมโบ และเมื่อลดลงจนถึงหมดหลอด ศัตรูจะติด Stagger ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ชั่วคราว พร้อมกับฟื้นฟูหลอดพลังป้องกันไปด้วย เมื่อฟื้นฟูเรียบร้อยแล้วศัตรูจะลุกขึ้นมาโจมตีเราเหมือนเดิม

เพื่อนร่วมทีมในเกมนี้จะมีสองรูปแบบ แบบแรกคือเจ้าหมาน้อย Torgal นอกจากจะมีน้องมาให้ลูบหัวแล้ว น้องยังช่วยเราต่อสู้ได้ด้วย เราสามารถสั่งให้น้องโจมตีศัตรูได้ ใช้สกิลใส่ศัตรูได้ และยังสั่งน้องฮีลเราได้ด้วย โดยใช้ปุ่มทิศทางเป็นตัวสั่ง

อย่างที่สองคือเพื่อนร่วมทีมแบบ AI ตามสถานการณ์ที่เราจะไม่สามารถบังคับได้เลย ความเก่งกาจอยู่ในระดับพึ่งพาไม่ได้ แต่ในบางครั้งก็ช่วยล่อให้มอนสเตอร์สนใจ เปิดช่องว่างให้เราคิดท่าโจมตีดี ๆ ได้ในเวลาคับขัน

การอัพเกรดตัวละคร

แม้ระบบการเล่นจะเป็น Action แบบเต็มตัว แต่ความเป็น RPG ยังคงอยู่ โดยเฉพาะการอัพเกรดตัวละครที่จะถูกเน้นเป็นส่วนสำคัญ หากผู้เล่นเล่นเกม Action ไม่เก่ง ซึ่งคอนเซปต์ของการอัพเกรดจะมีอยู่สองรูปแบบ คือในส่วนของ Ability ที่ทำงานคล้าย ๆ Active Skill ส่วน Passive จะอยู่ในรูปแบบของอาวุธ และเครื่องประดับมากกว่า

ในทุก ๆ การต่อสู้หลังจากเสร็จสิ้น คุณจะได้รับ Ability Point เมื่อเปิดหน้า Abilities Menu คุณจะพบกับทักษะตัวละครเป็นวง ๆ วงแรกคือทักษะเบื้องต้นของ Clive ที่เมื่ออัพเกรดแล้ว จะขยายฟังก์ชันการต่อสู้ให้เยอะขึ้น เช่น คุณสามารถกดโจมตี + ยิงเวท ค้างไว้เพื่อเพิ่มความแรงได้, เพิ่ม Air Combo และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำคอมโบให้มากขึ้น ตรงนี้ไม่ได้ช่วยให้ตัวละครเก่งขึ้นโดยอัตโนมัติ คุณต้องฝึกฝนเพื่อใช้งานมันด้วยเพื่อดึงประโยชน์ออกมาให้ได้มากที่สุด

ในวงอื่น ๆ จะเป็น Eikonic Ability การอัพเกรดจะทำให้คุณได้ Ability ใหม่ ๆ หรืออัพเกรด Ability เดิมให้แข็งแกร่งขึ้น ยิ่งคุณพบ Eikon ตามเนื้อเรื่องเพิ่มมากเท่าไหร่ คุณจะสามารถอัพ Eikonic Ability ได้เยอะมากขึ้นเท่านั้น แต่คุณสามารถติดตั้ง Eikonic Ability ได้เพียง 4 ช่องเท่านั้น

เครื่องสวมใส่ในเกมนี้มีทั้งหมด 6 ช่อง สามช่องแรกจะเป็นอาวุธ เข็มขัด และกำไล ส่วนสามช่องล่างจะเป็นเครื่องประดับ โดยคุณสามารถซื้อเปลี่ยนได้ตามเมืองใหญ่ ๆ ที่คุณผ่าน อีกทั้งยังสามารถอัพเกรด (ตีบวก) เครื่องสวมใส่ได้ด้วย 

ระดับความยากในเกม

สำหรับแฟน ๆ ที่เล่น Turnbase มานาน และไม่ถนัดเกมแนวต่อสู้ Final Fantasy XVI มีความยากทั้งหมด 2 ระดับ ให้ได้เล่นกันตามสะดวก โดยจะมีชื่อว่า Story Focused Mode และ Action Focused Mode

Story Focused Mode ไม่ใช่โหมดง่ายของเกมแต่อย่างใด แต่เป็นโหมดที่มีไว้สำหรับคนที่ต้องการโฟกัสไปที่เนื้อเรื่องเพียงเท่านั้น ในโหมดนี้จะเปิดการใช้งานสิ่งที่เรียกว่า Timely Accessories เครื่องประดับที่จะช่วยให้ฟังก์ชันบางอย่างของเกมง่ายขึ้น เช่น เมื่อใส่ Ring of Timely Evasion ตัวละครของเราจะหลบการโจมตีศัตรูเองโดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องพะวงกับการหลบการโจมตี เป็นต้น

Action Focused Mode เป็นโหมดปกติของเกมที่เน้นไปในด้านการแอคชัน ในโหมดนี้ไม่ได้ปิดการใช้งาน Timely Accessories อย่างใด แต่คุณจะต้องเปิดมันเอง โดยรวมทั้งสองโหมดไม่มีความแตกต่างกันมาก และสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างกันได้อย่างอิสระ

นี่คือรายละเอียดทั้งหมดของ Final Fantasy XVI จากการสัมผัสจริง 4 ชั่วโมงเต็มของเรา ตัวเกมจะวางจำหน่ายในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เฉพาะ PlayStation 5 เท่านั้น และจะมี Demo 2 ชั่วโมงมาให้ลองเล่นก่อน แฟนไฟนอลไปพรีออเดอร์กันได้เลย

https://www.playstation.com/th-th/games/final-fantasy-xvi/

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top