BY StolenHeart
28 Sep 18 3:25 pm

ประโยชน์ของความพ่ายแพ้ในเกมต่อสู้

31 Views

เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนขยายและไม่อยากที่จะแตะเกมต่อสู้ส่วนหนึ่งก็คือไม่อยากจะแพ้บ่อย ๆ นี่แหละ จริงอยู่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกคนก็ต้องเจอ แต่ก็ยังมีหลายคนที่กลัวจะแพ้จนไม่กล้าเล่นต่อ แพ้จนท้อ หมดกำลังใจจะเล่นต่อถึงขนาดเลิกไปหาเกมแนวอื่นเล่นไปเลยก็มี ซึ่งอันที่จริง ไม่ว่าจะเกมอะไรแนวไหนที่ต้องเล่นแข่งขัน มีภารกิจที่ต้องบรรลุให้ได้ และมันก็มีอยู่สองทางคือบรรลุหรือล้มเหลว และการพ่ายแพ้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากจะเจอ แน่นอนแหละว่าไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้หรอกในว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

กระนั้นแล้วแม้ความพ่ายแพ้จะเป็นเรื่องที่แย่ แต่ในสิ่งที่แย่ก็ยังมีเรื่องดี ๆ ที่เราสามารถเรียนรู้จากมันได้ ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเอง ในเกมต่อสู้ที่เราเล่นด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีเพื่อนร่วมทีมเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เราสามารถมองข้อบกพร่องของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น อย่างเช่นในเกมที่แล้วเราเล่นแพ้ ถ้าเป็นการเล่นเกมแบบปกติทั่วไป เราก็คงโทษเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองบ้าง เช่นฝั่งนั้นเล่นตัวโกง สัญญาณเนตไม่ดี จอยกากหรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าหากทุกอย่างที่กล่าวมามันไม่ได้เกิดขึ้นล่ะ ฝั่งนั้นเล่นตัวที่เราเจอมาค่อนข้างบ่อย สัญญาณเนตก็ปกติดีไม่มีกระชาก จอยก็กดท่าออกปกติ แบบนี้มันก็จะรู้สึกมวน ๆ หน่อย เพราะสุดท้ายแล้วที่เราแพ้มันก็มาจากตัวเองอยู่ดี

ทีนี้เราจะทำอย่างไรกับสภาวะแบบนี้ดี? อย่างที่ผู้เขียนจั่วหัวไปในตอนต้นคือต้องเรียนรู้จากมันครับ เราอาจจะรู้สึกท้อได้เพราะใคร ๆ ก็เป็นกัน แต่การที่จะทำให้เราไม่กลับมาท้ออีกมันก็มาจากเราเรียนรู้จากมัน อย่างเมื่อวันก่อนผู้เขียนเองก็ไปลุยในเกม Tekken 7 โหมด Ranking และพยายามตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเก็บแรงค์ให้สูงเกินขั้นสีเหลืองระดับกลางขึ้นไปหรือระดับเกิน Vindicator ให้ได้ แต่เนื่องจากวันนั้นเราเจอแต่คู่ต่อสู้ที่เล่นดีกว่าเรามาก รู้ว่าจะสวนกลับเราแบบไหน และใช้ท่าบุกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เจอหนักเข้าแรงค์ก็ร่วงกลับไปอยู่ระดับสีเขียวขั้นกลางเลย ตอนนั้นบอกเลยว่าอารมณ์ทิ้วมาเต็ม แต่เราก็โทษใครไม่ได้อยู่ดี นอกจากตัวเองนี่แหละ

ดังนั้นแล้วสิ่งเราควรทำเพื่อเรียบเรียงความคิดและไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกก็คือการเรียนรู้จากมัน เราหาสาเหตุก่อนว่าที่แพ้คนที่เล่นด้วยนั้นมาจากอะไร เขาออกท่าแบบไหนบ่อย ตัวละครนี้มีจุดเด่นตรงไหน ท่าอะไรที่คนเล่นชอบใช้เพื่อเอาชนะคนอื่น เราก็ไปศึกษาหาดูคลิปและข้อมูลจากในคอมมูนิตี้คนเล่นเกมเพื่อเรียนรู้ ยิ่งในยุคนี้ข้อมูลแบบละเอียดถูกต้องสามารถหาได้ไม่ยากไม่ว่าจะทั้งแบบข้อมูลดิบหรือเป็นคลิปที่จัดทำมาอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็มีอยู่ทั่วไป แถมบางทียังเป็นภาษาไทยอีกด้วย

พอเราเริ่มรู้มากขึ้นคราวนี้ก็เป็นการฝึกฝน หลายครั้งที่ผู้เขียนกดคอมโบหลุดเพราะมือสั่น ใจร้อน หรือกดพลาดจริง ๆ อันนี้เราก็ต้องหมั่นฝึกซ้อมกดให้เป๊ะ สำหรับเกมอย่าง Tekken 7 มีเมนูฝึกซ้อมที่จัดว่าละเอียดมาก ๆ สามารถเลือกตัวละครที่เราแพ้ทางมาก่อน แล้วจัดการให้ออกท่าที่เราเคยโดนบ่อย ๆ หรือแก้ทางไม่เป็นมาซ้อมย้ำ ๆ เพื่อให้เราจำได้อย่างสะดวก จะฉากแบบไหนก็ปรับให้ตรงความต้องการได้ เป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อทดสอบว่าความรู้ที่เราเรียนมาใช้ได้ผลหรือไม่ครับ

แต่การฝึกซ้อมซ้ำ ๆ แบบไร้จุดหมายก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเก่งขึ้นแบบชัดเจน เราอาจจะได้วิธีการกดคอมโบที่เป๊ะขึ้น หรือรู้ว่าท่าไหนสวนท่าไหนได้ แต่สิ่งที่ผู้เล่นควรต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือวิธีคิดและจิตวิทยาระหว่างเกม ในเกมต่อสู้มีหลายวืธีที่ผู้เล่นสามารถใช้เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ไม่ใช่แค่คอมโบ ในบางยกเองเราก็สามารถถูกทำให้พ่ายแพ้ได้โดยที่คู่ต่อสู้ไม่จำเป็นต้องกดคอมโบชุดสุดแรงมาเอาชนะเรา แค่ตอดเล็กตอดน้อยไปเรื่อย ๆ ก็สามารถเอาชนะเราได้แล้ว หรือเปลี่ยนวิธีการเล่นไปเลยก็มีให้เห็นกันบ่อย ๆ ซึ่งการศึกษานิสัยคนเล่นนั้นอาจจะเป็นเชิงลึกลงไปอีก แต่ก็ถือว่ามีประโยชน์และสามารถทำให้เราคาดเดาวิธีการรับมือกับคนเล่นตัวละครนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ที่สำคัญคือเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ตัวเองให้ได้ก่อนครับ ว่าบางครั้งการเล่นกับคนด้วยกันเองเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ก็เป็นสิ่งจำเป็น มากยิ่งกว่าการฝึกซ้อมซ้ำ ๆ แล้วไม่ก้าวหน้าไปไหน

ซึ่งการเปลี่ยนวิธีคิดให้รับกับรูปแบบการเล่นที่ดีขึ้นนั้นก็มาจากการสะสมประสบการณ์ของผู้เล่นเอง ศึกษาจากกลุ่มผู้รู้และเพื่อนฝูงที่เล่นด้วยกัน แลกเปลี่ยนกันว่าเราควรปรับปรุงตรงจุดไหน หรือเราสังเกตความผิดพลาดของตัวเองในระหว่างการเล่นด้วยว่าทำไมเราถึงทำผิดพลาดในจุดนั้น ๆ อย่างเช่นเรากันล่างไม่เก่ง คู่ต่อสู้ก็จะอาศัยจุดบอดนี้มาเล่นงานเรา ซึ่งถ้าใครเล่น Tekken มานานจะรู้ได้ทันทีว่าใครกันล่างกันบนไม่เก่งจากการเล่นด้วยกันประมาณ 4- 5 เกมขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนเกมขั้นต่ำปกติที่สู้กันในโหมด Ranking ยิ่งถ้าเราไม่แก้ข้อเสียตรงนี้ให้ดี เราก็จะถูกเล่นงานให้พ่ายแพ้ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย หรืออย่างปัจจัยอื่น ๆ ที่เราสังเกตตัวเองและรู้ทันทีแต่ยังแก้ไม่ได้ อันนี้ก็คงต้องใช้ประสบการณ์และเวลาช่วยให้ดีขึ้นตามลำดับครับ

ในช่วงท้ายนี้ผู้เขียนไม่อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนที่เล่นเกมต่อสู้คิด ว่าความพ่ายแพ้เป็นบ่อเกิดแห่งความอาย ที่จริงยิ่งเราแพ้เราก็จะยิ่งรู้ว่าข้อบกพร่องของเราอยู่ตรงไหนและควรแก้ไขมันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นควรมีติดตัวก็คือการรู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน เมื่อเราพบมันแล้วก็สามารถหากระบวนการแก้ไขได้ เราก็จะจะพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นได้เช่นกัน และสำหรับผู้เล่นเกมต่อสู้ที่แม้จะไม่ได้เข้าแข่งขันเป็นหลักอาจจะคิดว่า เรื่องเหล่านี้อาจจะดูห่างไกลจากตัวเองเหลือเกิน แต่เชื่อเถอะครับ ว่าการที่เราได้รับรู้ว่าตัวเองพัฒนาขึ้นไม่ว่าจะด้านใดด้านหนึ่ง มันก็เป็นความภาคภูมิใจให้กับเราได้แม้มันจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม และการที่เรารู้ว่าสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในเกมต่อสู้ได้ เราก็จะสามารถเล่นมันได้สนุกขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยึดถือเสมอมาครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top