BY KKMTC
21 Dec 21 5:39 pm

ทำไมทีมพัฒนา จึงไม่กล้าโชว์ความเสียหายของรถในเกม Racing ยุคปัจจุบัน

31 Views

หากผู้เล่นเป็นคนติดตามเกม Racing มานานเกินทศวรรษ ก็จะรู้ดีว่าโมเดลความเสียหายของรถยนต์ในแต่ละเกมนั้นจะมีความสมจริง และระดับรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในขณะที่เกมแอ็คชันตระกูล Burnout มีโมเดลความเสียหายของรถที่จัดเต็มอลังการ แต่เกมแข่งรถสมจริง Forza และ Gran Turismo กลับมีโมเดลความเสียหายของรถที่ไม่น่าประทับใจเท่ากับ Burnout ซะอย่างนั้น

นอกจากนี้ เกมแข่งรถของค่าย Codemasters ที่มีชื่อเสียงในด้านการทำโมเดลรถเสียหายมานาน ก็เริ่มมีการจำกัดไม่ให้นำเสนอความเสียหายของรถที่มากจนเกินหน้าเกินตาแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก็ทำให้เกมเมอร์หลายคน เกิดข้อสงสัยว่าทำไมทีมพัฒนาเกม จึงไม่กล้าที่จะโชว์ความเสียหายของรถในเกม Racing ที่หลายไตเติลเริ่มเป็นเยอะขึ้นยุคปัจจุบัน

ความเสียหายของรถในเกม Racing ที่หายากขึ้นทุกที

burnout paradise remastered

ต้องบอกก่อนว่าเกม Racing บางเกม ณ ตอนนี้ เช่น BeamNG Drive, Wreckfest, Burnout Paradise ยังคงมีการแสดงความเสียหายของรถยนต์ชนิดจัดเต็ม แต่หากคุณเล่นเกม Racing มานานแล้ว ก็จะเข้าใจเป็นเสียงเดียวกันว่ารายชื่อเกมที่กล่าวมานั้น รถทั้งหมดในเกมเป็นยานพาหนะที่ “ออกแบบดีไซน์ขึ้นมาเองทั้งสิ้น”

แล้วทีนี้ ให้สังเกตแฟรนไชส์เกมแข่งรถดังอย่าง Need for Speed, Forza Horizon, GRID, DiRT, Gran Turismo ซึ่งรายชื่อเกมที่กล่าวมาทั้งหมด มีการซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์รถจากชีวิตจริงมาใช้ในเกม และเกมทั้งหมด ล้วนโดนวิจารณ์จากเกมเมอร์ว่าไม่มีการโชว์โมเดลความเสียหายรถอย่างสมจริง

ถ้าหากลองเปรียบรายละเอียดระหว่างเกม BeamNG Drive, Wreckfest, Burnout Paradise และ Need for Speed, Forza Horizon, GRID, DiRT, Gran Turismo ก็อาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าสาเหตุที่ทีมพัฒนาไม่กล้าโชว์ความเสียหายของรถในเกม Racing ยุคปัจจุบัน ก็อาจเป็นเพราะเรื่องของ “ข้อตกลงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์รถยนต์”

beamng.drive

Chris Smith ผู้กำกับเกม GRID เวอร์ชัน Reboot ปี 2019 ได้เปิดเผยรายละเอียดผ่านสื่อ Traxion.gg เกี่ยวกับกรณีที่ GRID ภาคล่าสุด มีโมเดลความเสียหายรถที่ดรอปคุณภาพลงจากภาคแรก โดยเขาให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ต้องแบบนี้ ก็เพื่อต้องการนำเสนอภาพลักษณ์การแข่งขัน Motorsport ให้เป็นกีฬาที่มีมาตรการความปลอดภัยสูงสุด

Smith เปรียบเทียบกับ Wreckfest ซึ่งเป็นเกมแข่งรถที่มีชื่อเสียงในด้านการนำเสนอความเสียหายของโมเดลรถ โดยเขากล่าวว่าขณะที่ Wreckfest เป็นเกมแข่งรถในธีม Demolition Derby ที่เน้นการใช้รถเก่า ๆ โทรม ๆ และมีการชนกันเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตจริง แต่ GRID คือเกมแข่งรถ Motorsport ที่ความปลอดภัยของนักแข่ง และกฎน้ำใจของนักกีฬา ก็มีความสำคัญไม่แพ้กับการแข่งขันคว้าชัยชนะอันดับ 1

Race Driver Grid

นอกจากนี้ Smith กล่าวว่าหากตัวเกมเพิ่มระบบการพังรถแบบสมจริงเข้าไป แล้วการชนได้ส่งผลกระทบต่อโมเดลนักแข่ง ก็อาจส่งผลทำให้ตัวเกมถูกปรับเรตใหม่ ซึ่งทำให้ตัวเกมเข้าถึงทุกวัยได้ยากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิงจากเว็บไซต์ ESRB (บอร์ดจัดเรตวิดีโอเกมในประเทศสหรัฐฯ) ระบุไว้ว่าเกม GRID 2019 ได้รับการจัดเรตไว้ที่ E – Everyone ซึ่งเป็นเกมที่เหมาะสำหรับผู้เล่นทุกวัย แต่ตรงกันข้ามกับ Burnout Paradise Remastered ซึ่งเป็นเกมแข่งรถชนแหลกที่ได้รับความนิยมจากผู้เล่นทั่วโลก เกมดังกล่าวได้รับเรตที่ E 10+ หรือเหมาะสำหรับคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป พร้อมมีการเตือนว่าตัวเกมอาจมีเนื้อหาความรุนแรงเล็กน้อย ในขณะที่เกม GRID 2019 นั้นไม่มีการเตือนเนื้อหาใด ๆ ทั้งสิ้น

และสุดท้าย Smith ชี้ว่าทีมพัฒนา “ไม่สามารถ” ทำลายรถ Ferrari, Porsche, Corvette และอื่น ๆ อีกหลายยี่ห้อในเกมได้ ซึ่งเขาให้สาเหตุ (แบบไม่ชัดเจน) ว่ารถของพวกเขานั้น “ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ในชีวิตจริง”

รถทุกแบรนด์ รถทุกรุ่นจากชีวิตจริงที่ถูกพอร์ตเข้ามาในเกม ล้วนผ่านการทดสอบการชน และได้รับคะแนนความปลอดภัยตรงตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ในชีวิตจริง คงไม่มีใครคนไหนอยากจะขับรถด้วยความเร็วเกิน 200 ไมล์ต่อชั่วโมงแล้วอัดชนกำแพง เพื่อดูผลลัพธ์ว่ารถสามารถพังยับเยินได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทีมพัฒนาจึงพยายามจำกัดการนำเสนอความเสียหายของรถให้ได้มากที่สุด

Grid

Smith เผยเพิ่มเติมว่า ทางผู้ผลิตรถยังคงอนุญาตให้รถในเกมสามารถมีรอยบุบ และแสดงความเสียหายได้ แต่ทางผู้ผลิตจะคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่าตัวเกมได้นำเสนอความเสียหายของรถอย่าง “สมจริง” มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีครั้งหนึ่ง ทางผู้ผลิตรถได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสียหายของรถในเกมถึงนักพัฒนาว่า “นี่หรือคือความเสียหายของรถแบบสมจริง ? รถของเราเป็นแบบนี้ได้จริงเหรอ ?”

หากอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ด้านบน ก็ดูเหมือนว่าผู้ผลิตรถ มีความพยายามไม่อยากให้รถของตัวเอง มีภาพลักษณ์ที่เสียหาย เพราะนำเสนอโมเดลรถที่พังยับเยินในโลกวิดีโอเกม ก็อาจส่งผลกระทบทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ไว้วางใจในคุณภาพของแบรนด์ได้

GRID

การนำรถของจริงไปอยู่ในโลกของวิดีโอเกม ก็เปรียบเสมือนเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ผู้เล่นรู้จักแบรนด์รถให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทางผู้ผลิต อยากจะรักษาภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ Smite กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างทีมพัฒนาเกม และผู้ผลิตรถนั้นไม่เหมือนกับช่วง 10 ปีก่อนแล้ว ตอนนี้ ทีมพัฒนาต้องสร้างเกมแข่งรถอย่างรอบคอบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และสร้างความไว้ใจให้กับแบรนด์รถ ซึ่งวิธีสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์ที่ง่าย และมีประสิทธิภาพมากสุด คือการโชว์ความเสียหายของรถให้น้อยที่สุดนั่นเอง

ด้วยคำตอบของทีมพัฒนาเกม จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเราอาจไม่ได้เห็นการนำเสนอความเสียหายของรถในเกม Racing ที่ใช้รถจากของจริงไปอีกนาน แต่แน่นอน ผู้เล่นยังคงพบระบบดังกล่าวได้ในเกม Racing ที่ใช้รถ Fictional ที่ไม่มีในชีวิตจริง และออกแบบดีไซน์ด้วยตัวเอง

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top