BY KKMTC
27 May 21 6:41 pm

ความเป็นมาของการแจก F**k และคำหยาบในวิดีโอเกม

107 Views

“F*ck” “Sh*t” “C*nt” แม้มันคือถ้อยคำที่รุนแรง และถูกสอนว่าห้ามใช้คุยกับคนไม่รู้จักหรือคนที่มีตำแหน่งยศสูงกว่า แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถ้อยคำสบถเหล่านั้น พวกเราได้ยินบ่อยตามภาพยนตร์และวิดีโอเกมที่มีเนื้อหารุนแรง จนเราชินชาไปกับมันซะเสียแล้ว

แน่นอนว่าการใช้คำหยาบในวิดีโอเกมย่อมต้องจุดเริ่มต้นเหมือนกับการใช้คำหยาบในหนัง แล้วความเป็นมาของคำว่า “F*ck” ในเกมมาจากไหน ก็สามารถรับชมได้เลย

จุดเริ่มต้นของการแจกฟักในเกม

ในวงการภาพยนตร์ “I’ll Never Forget What’s’isname” และ “Ulysses” ของปี 1967 เป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้คำว่า “F*ck” อย่างเป็นทางการ แล้วหลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาพยนตร์ดังที่มีเนื้อหารุนแรงหรือเรต R หลายเรื่อง ก็เริ่มมีการใช้คำหยาบคาย จนกลายเป็นมาตรฐานของหนังถึงยุคปัจจุบัน

แต่สำหรับวงการวิดีโอเกม เกมแรกที่ “คาดว่า” มีการใช้คำหยาบ ก็คือ “Q*bert” เกมตู้อาร์เคดแนว Puzzle อันโด่งดังที่เปิดให้เล่นครั้งแรกในปี 1982 ซึ่งนอกจากเกมดังกล่าวมีชื่อเสียงด้านภาพกราฟิกสีสันสดใส และใช้เทคนิคภาพ “isometric” สามารถหลอกตาให้เป็นกราฟิกสามมิติแล้ว ตัวละครมาสคอตของเกมดังกล่าว ก็มีชื่อเสียงจากการพูดว่า “@!#?@!” ซึ่งเป็นข้อความเชิงบอกนัยว่ากำลังพูดประโยคไม่เหมาะสมหรือคำหยาบ คล้ายในหนังสือการ์ตูนคอมมิกส์ที่มักใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเซนเซอร์บทพูดที่มีเนื้อหารุนแรง

เนื่องจากตัวละครของเกม Q*bert ใช้คำพูดว่า “@!#?@!” ทำให้เกมเมอร์หลายคน รวมถึงสื่อหลายแห่งยกย่องให้เกมดังกล่าวเป็นเกมแรกที่มีการใช้คำหยาบในเชิงบอกใบ้

ถึงอย่างนั้น ทีมพัฒนาเกมหลายฝ่ายยังไม่มีใครกล้านำคำหยาบไปใส่เกม เนื่องจากเกมในอดีตส่วนใหญ่เป็นแนวอาร์เคด แอ็กชัน Platformer เน้นระบบเกมเพลย์มากกว่าการนำเสนอเนื้อเรื่อง รวมถึงช่วงปี 1980 บริษัท Nintendo มีนโยบายว่าเกมที่วางขายในเครื่อง Nintendo Entertainment System ต้องมีเนื้อหาเป็นมิตรต่อคนทุกวัยและครอบครัว (หลายคนเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “Family Friendly”) ทำให้การสอดแทรกคำหยาบลงไปในเกม ยังดูไม่มีความจำเป็นในเกมยุคนั้น และอาจทำให้เกมโดนเซ็นเซอร์เนื้อหาได้

อย่างไรก็ตาม แม้ NES มีนโยบาย Family Friendly แต่ก็มีบางทีมงานมักเผลอใส่คำหยาบลงไปในเกมโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเกมญี่ปุ่นบางเกมที่แปลเป็นภาษาอังกฤษผิดเพี้ยน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคำหยาบคายที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้ทุกคนเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น ในหน้าต่างสอนเล่นเกม “Explosive Fighter Patton” ของ Famicom Disk System มีประโยคหนึ่งที่แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นอังกฤษผิดเพี้ยนจนกลายเป็นคำว่า “TURN TO SIDE B AND INSERT TO FUCKING BOX!” รวมถึงในฉาก Game Over ของเกม “Download” ใน TurboGrafx 16 มีการแปลผิดเขียนว่า “No shit! I got the wrong way!” “I Cannot Fuck Up for This” และอื่น ๆ อีกหลายประโยค

Explosive Fighter Patton

หากไม่นับเกมที่มีการแปลภาษาผิดเพี้ยน คำหยาบที่โผล่ในเกม NES ส่วนใหญ่จะเป็นคำว่า “Hell” (พบในเกม Rambo) หรือ “Damn” (พบในเกม Bionic Commando) ซึ่งคำดังกล่าวยังมีความรุนแรงน้อยกว่าคำว่า “F*ck” “Sh*t” “C*nt” หลายเท่าตัว โดยคำเหล่านั้นแทบไม่เคยเห็นในเกมยุค 1980 เลยอจนกระทั่งช่วงกลางปี 1990 ได้มีการวางจำหน่ายเกมหนึ่งที่เปลี่ยนภาพลักษณ์วิดีโอเกมไปตลอดกาล

จุดเริ่มต้นของยุคเกมเนื้อหารุนแรง

DooM

หลังการวางจำหน่ายเกม DOOM กับ Mortal Kombat ในช่วงปี 1990 ซึ่งทั้งสองเกมเป็นเกมเนื้อหารุนแรงจากการนำเสนอฉาก Gore เห็นเลือดเป็นสีแดง กับมีอวัยวะฉีกขาดแบบเห็นจะ ๆ การวางขายทั้งสองเกมทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากผู้ปกครองและรัฐบาลเป็นจำนวนหนึ่ง แล้วส่งผลทำให้มีการก่อตั้งองค์กร ESRB เพื่อจัดเรตสื่อวิดีโอเกมอย่างเป็นทางการ

แต่แน่นอนว่าด้วยกระแสของ DOOM และ Mortal Kombat ที่โด่งดังจนได้รับความนิยมกลายเป็น Pop Culture ก็ส่งผลทำให้ทีมพัฒนาเกมเริ่มหันมากล้าสร้างเกมที่เหมาะสำหรับเด็กโตหรืออายุ 17 ปีขึ้นไป โดย Duke Nukem 3D คือตัวอย่างหนี่งในเกม FPS แห่งยุคปี 1990 ที่หลายคนต่างต้องถูกใจด้วยประโยคคำพูดของ Duke สุดเท่ เช่น “I Chew Bubblegum and Kickass” “Life’s a bitch and then you die” “Eat shit and die!” เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปี 1995 มีเกมแนวผจญภัย Click and Point บน MS-DOS เกมหนึ่งชื่อว่า “The Orion Conspiracy” ซึ่งแม้เกมดังกล่าวมีกระแสตอบรับแย่ในด้านเนื้อหาและระบบเกมเพลย์ แต่เกมตัวเกมได้สร้างนวัตกรรมด้านการใช้ภาพกราฟิก SVGA และมีชื่อเสียงด้านการใช้ภาษารุนแรง โดยในเกมได้ใช้คำเหยียดเชื้อชาติ เช่น “Nig*er” “K*kes” “Sp*c” หรือคำหยาบอื่น ๆ เช่น “F*ck” และ “D*ck” รวมถึงเนื้อเรื่องมีการเหยียดเกย์อีกด้วย

The Orion Conspiracy

หลังจากการเปิดตัวเกมคอนโซล PlayStation 2 ในปี 2000 พร้อมกับเกมเรต M (Matual 17+) ที่มีให้เลือกเล่นมากมาย เช่น Grand Theft Auto III ช่วงนั้นคือจุดเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวิดีโอเกมไปตลอดกาล ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเกมไม่ใช่ของเล่นสำหรับเด็กอีกต่อไป

ในปี 2006 เกม Scarface: The World is Yours หรือเกมดัดแปลงจากภาพยนตร์อาชญากรรมชื่อดัง ได้สร้างสถิติจาก Guinness World Record ว่าเป็นเกมที่มีคำว่า “F*ck” มากที่สุด 5,688 คำจากทั้งหมด 31,000 ประโยค โดยอันดับรองลงมาคือ Mafia II มีคำว่า “F*ck” ในเกม 200 คำ และ The House of the Dead: Overkill มีคำว่า “F*ck” ในเกม 189 คำ

Scarface: The World is Yours

นอกจากนี้ เนื่องจาก Scarface: The World is Yours มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ความรุนแรง รวมถึงมีกิจกรรมเสริมให้ผู้เล่นสามารถค้ายาได้ ทำให้เกมนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าผู้ปกครองบางส่วน รวมถึงในประเทศไทยได้ขึ้นแท่นเป็น 10 เกมอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง หลังจากเกิดคดีฆาตกรรมชายฆ่านักขับแท็กซี่ โดยอ้างว่าเลียนแบบจากเกมตระกูล Grand Theft Auto

ปัจจุบัน การใช้คำหยาบบนวิดีโอเกมได้กลายเป็นมาตรฐานของสื่อบันเทิงคล้ายกับภาพยนตร์ โดยเกมเน้นนำเสนอเนื้อเรื่องที่มีความรุนแรง ดาร์ก มักจะมีการใช้คำหยาบ 1 คำขึ้นไป โดยบางเกมอาจใช้คำหยาบเยอะเหมือนโมโหใครมา เพื่อนำเสนอเนื้อหาเชิงคอเมดี้หรือเสียดสีบางอย่าง บางเกมก็ใช้คำหยาบน้อยหรือตามความเหมาะสม เพื่อแสดงอารมณ์ตัวละครได้อย่างสมจริงและเป็นธรรมชาติ

แน่นอนว่าการนำเสนอความรุนแรงในเกมยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่เรามั่นใจว่าชาวเกมมอร์ทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “F*ck” “Sh*t” “C*nt” ทั้งในเกมและหนังจนชินชากันไปแล้ว รวมถึงคาดหวังได้เลยว่าคำหยาบจะยังคงอยู่กับพวกเราในเกมยุคปัจจุบันไปอีกนาน

ที่มา: Kotaku, Warped Factor

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top