BY StolenHeart
19 Oct 18 3:42 pm

ย้อนตำนาน Clock Tower สุดยอดเกมสยองขวัญที่ดีที่สุดแห่งยุค Super Famicom

285 Views

เนื่องจากใกล้เทศกาลวันฮาโลวีน ที่หลาย ๆ วงการต่างหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวภูตผีปีศาจซึ่งก็รวมไปถึงวงการเกมก็ด้วยเช่นกัน ด้วยเกมแนวสยองขวัญมากมายทั้ง Resident Evil, Silent Hills หรือ Outlast แต่สำหรับคอเกมสยองขวัญแบบคลาสสิกสมัยเครื่อง SNES หรือ Super Famicom ก็มีอยู่เกมหนึ่งเป็นที่จดจำอย่างมากในยุคนั้นด้วยความสยองแบบที่ไม่เคยมีเกมไหนทำมาก่อน นั้นก็คือ Clock Tower นั่นเองครับ

ท้าวความก่อนว่าในยุคปี 1995 ที่เทคโนโลยีของโลกวิดีโอเกมในตอนนั้นเรายังมีเพียงแค่เครื่องคอนโซลอย่าง Super Famicom, Megadrive หรือเกมบนเครื่อง PC ก็ต้องรันผ่าน Dos ที่หลาย ๆ อย่างจะยังถูกนำเสนอได้แบบไม่เต็มที่เท่าใดนัก แต่ก็ยังมีเกมสยองขวัญที่วางจำหน่ายออกมาก่อนหน้านี้และทำได้ดีอย่างเช่น Alone in the Dark แต่ก็มีแค่ในบน PC เท่านั้น ซึ่งสำหรับชาวคอนโซลโดยเฉพาะทางฝั่งญี่ปุ่นก็ยังไม่มีเกมสยองขวัญเกมใดในยุคนั้นที่ทำได้ แต่ก็มีค่ายเกมค่ายหนึ่งที่ริเริ่มสร้างเกมสยองขวัญที่น่ากลัวสุด ๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่จำกัดได้อย่างน่าทึ่งขึ้นมาให้เห็นกันในปีนั้น

Alone in the Dark

Clock Tower เป็นผลงานของค่าย Human Entertainment กำกับโดย Hifumi Kono ในตอนแรกสุดเขาต้องการสร้างเกมที่แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ของ Dario Argento (Susperia, Zombi) ที่เน้นในการสร้างบรรยากาศสยองขวัญแบบกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอยากสร้างเกมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังของเขา ซึ่งตัวเกมนั้นหยิบยืมไอเดียมาจากภาพยนตร์เรื่อง Phenomena(1985) มาหลายส่วน และตัวฆาตกรในเกมก็มีต้นแบบจาก The Burning(1981) ที่ใช้กรรไกรยักษ์เป็นอาวุธสังหาร นำมาดัดแปลงใหม่เป็นเกมที่มีชื่อว่า Clock Tower

Phenomena

Clock Tower เป็นเรื่องราวของ Jennifer Simpson เด็กกำพร้าจากสถานเลี้ยงเด็ก Granite กับเพื่อนอีกสามคน ที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในคฤหาสน์ตระกูล Barrows ที่รับอุปการะพวกเธอ ซึ่งพวกเธอก็หวังได้ใช้ชีวิตที่ดีและสงบสุข แต่หารู้ไม่ว่าความน่ากลัวที่คุกคามชีวิตกำลังรอพวกเธออยู่

โดยเริ่มแรกนั้น Clock Tower เป็นเกมเล็ก ๆ ที่ใช้ทีมงานและงบที่ไม่สูงมากนัก แต่หลังจากที่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 1995 มันก็กลายเป็นเกมที่ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที ตัวเกมขายได้ดีกว่าที่คาดไว้ จนทำให้ทาง Human Entertainment พิจารณาที่จะนำเกมนี้ไปวางจำหน่ายในตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งตัวเกมเวอร์ชั่น Super Famicom นั้นวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น แต่ตัวเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษถูกพัฒนาลงให้กับเครื่อง Playstation ในชื่อว่า Clock Tower: The First Fear และยังเคยลงให้กับระบบ PC สำหรับ Windows 95 ด้วย

สิ่งที่ทำให้ Clock Tower มีเอกลักษณ์ที่ผู้เล่นจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากรูปแบบการเล่นแสนคลาสสิกแบบ Point & Click ที่ผู้เล่นไม่สามารถโต้ตอบหรือต่อกรกับศัตรูในเกมได้ นั่นก็คือการกำกับเสียงระดับสุดยอด ไม่น่าเชื่อว่าเกมในยุคปี 1995 นั้นจะมีเสียงประกอบเกมที่น่าขนลุกอย่างมาก ทั้งการเลือกใช้เพลงประกอบ Sound Effect และองค์ประกอบอื่น ๆ ทำให้มันเป็นเกมที่น่ากลัวมาก แถมด้วยระบบการเล่นแบบสุ่มห้องในเกมที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้า และท้ายที่สุดคือตัวเกมมีฉากจบหลายแบบที่ผู้เล่นจะไม่มีทางได้ฉากจบที่ดีที่สุดในการเล่นรอบแรกอย่างแน่นอนเนื่องจากลำดับของห้องในเกมที่มีการสุ่มออกมา รวมไปถึงต้องทำเงื่อนไขให้ครบถ้วนด้วย เพิ่มคุณค่าในการเล่นซ้ำอย่างสูงจริง ๆ

นอกจากนั้นตัวร้ายของเกมอย่าง Bobby มือกรรไกรที่เวลาปรากฏตัวออกมาก็สร้างความระทึกทุกครั้งที่เจอ ซึ่งถ้าหากผู้เล่นไม่กดปุ่มรัว ๆ เพื่อลดค่า Panic ของตัว Jennifer ให้ทัน จุดจบของเธอก็คือความตาย ซึ่งถ้ารวมกับการที่เกมสุ่มห้องในเกมทำให้เราไม่รู้เลยว่าเราจะต้องเจอกับมันเมื่อไหร่ หรือแตะอะไรและมันจะออก กลายเป็นความระทึกขวัญแบบคาดเดาไม่ได้ทำให้เกิดความระแวงไปทุกอย่าง กลายเป็นความระทึกขวัญที่ไม่มีเกมไหนทำได้ในยุคนั้นไปเลย

ด้วยความสำเร็จของเกมทำให้มันมีภาคต่อตามมาในภาคหลัง Clock Tower 2 ได้วางจำหน่ายในญี่ปุ่นหลังจากนั้นในปี 1996 ส่วนในฝั่งตะวันตก ภาคนี้เป็นภาคแรกที่วางจำหน่ายออกมาก่อน(ซึ่งเป็นเหตุให้เกมภาคแรกที่วางจำหน่ายตามมาภายหลังต้องใช้ชื่อภาคว่า The First Fear เพื่อป้องกันความสับสน) ซึ่งในภาคนี้ก็มีทีมงานในการพัฒนาเพิ่มขึ้นและคุณภาพของตัวเกมก็ยังคงที่อยู่ ทั้งความน่ากลัวจากการถูกตามล่าของเจ้ามือกรรไกรสุดโหดที่ยังระทึกเช่นเดิม และมีการแบ่งแยกเนื้อเรื่องเป็นสองทางจากสองตัวละครหลักคือ Jennifer และ Helen ทำให้ผู้เล่นจะได้รับรู้เรื่องราวและปริศนาของตัวเกมในมุมมองที่ต่างจากเดิมอีกด้วย

แต่หลังจากนั้นมา Clock Tower ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเลยในตลาดเกม โดยภาคต่ออย่าง Clock Tower: Ghost Head(หรือ Clock Tower II: The Struggle Within ในตลาดตะวันตก) ซึ่งภาคนี้ไม่ได้กำกับโดยคุณ Kono แม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างตัวเอกสองบุคลิกและสู้กับศัตรูในเกมได้ แต่ตัวเกมไม่น่าประทับใจเท่ากับสองภาคแรก รวมไปถึงคะแนนของนักวิจารณ์และผู้เล่นที่ไม่ดีนัก ทำให้มันถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว จนท้ายที่สุด Human Entertainment ก็ต้องปิดตัวลงไปโดยลิขสิทธิ์ของเกมได้ตกเป็นของ Sunsoft แต่โอกาสครั้งใหม่ก็กลับมาหาซีรีส์นี้อีกครั้ง เพราะทาง Capcom และ Sunsoft ก็ได้ร่วมมือกันพัฒนา Clock Tower 3 ขึ้นมา และยังได้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นอย่าง Kinji Fukasaku (Battle Royale) มาร่วมกำกับคัตซีนของเกมด้วย แต่ท้ายที่สุดตัวเกมกลับได้รับคำวิจารณ์ที่ย่ำแย่รวมไปถึงยอดขายที่ต่ำมาก โดยทาง Capcom คาดว่าจะขายได้ที่ประมาณ 450,000 ชุด แต่ก็ขายไปได้เพียงแค่ 122,022 ชุดเท่านั้น เป็นการฝังกลบซีรีส์ Clock tower ไปอย่างถาวรและสร้างรอยร้าวระหว่าง Sunsoft และ Capcom จนไม่มีการร่วมโปรเจคกันอีกจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้ทุกวันนี้ Clock Tower จะถูกลืมเลือนไปบ้างจากเหล่าเกมเมอร์ แต่มันก็ได้ทึ้งมรดกเอาไว้ให้กับเกมแนวสยองขวัญในยุคหลังได้เดินตามรอยเท้าอย่างมากมาย และถือเป็นอีกหนึ่งเกมที่ขึ้นหิ้งเกมคลาสสิกที่ไม่ถูกกาลเวลากลืนกินไป เพราะถึงแม้กราฟฟิกของอาจจะดูตกยุคสมัย แต่เสียงประกอบของมันไม่ว่าจะกลับมาเล่นครั้งไหนก็ยังคงสร้างความขนหัวลุกให้กับผู้เล่นอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลงครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง – Clock Tower Wikia

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top