BY Nuttawut Apiratwarakul
30 Oct 18 4:30 pm

Review: Thronebreaker: The Witcher Tales

40 Views

อย่าให้ฉากหน้าที่เป็นเกมการ์ดมาหลอกคุณ นี่คือเกมที่มีเนื้อหาในจักรวาล The Witcher อัดแน่นแบบเข้มข้น แถมเล่นสนุกจนคุณอาจติดใจเกมการ์ดตัวนี้

CD Projekt ผู้พัฒนาเกมเทพขึ้นหิ้งในใจของใครหลายคนอย่าง The Witcher นำเรื่องราวของจักรวาลใบนี้กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ในเกมที่มีชื่อว่า Thronebreaker: The Witcher Tales

ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ตัวเกมไม่ใช่เกม Action RPG แบบเดิม ๆ ที่แฟน Witcher คุ้นเคยแต่เป็นการหยิบเอา Gwent เกมการ์ดของ The Witcher 3 ฉบับปรับปรุงมาผสมเข้ากับความเป็นเกม RPG และผลลัพธ์ที่ได้มันก็อร่อยลงตัวจนเราอยากแนะนำให้ผู้ที่ชื่นชอบโลกของ The Witcher ลองเปิดใจหาเกมนี้มาเล่นกันดู

สะบั้นบัลลังก์

ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้สวมบทเป็น Meve ราชินีแห่งอาณาจักรแฝด Lyria และ Rivia โดยเนื้อหาในเกมจะอยู่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ของเกม The Witcher 3 ซึ่งจักรวรรดิ Nilfgaardian ทางตอนใต้ได้เคลื่อนกำลังทัพหวังพิชิตเหล่าอาณาจักรแดนเหนือ การประชุมเพื่อร่วมมือกันหาทางยับยั้งการรุกรานของ Nilfgaardian จึงถูกจัดตั้งขึ้น

ราชินี Meve เดินทางกลับมายังดินแดนของตนหลังเซ็นสัญญาพันธมิตรกับเหล่าผู้นำคนอื่น แต่สิ่งที่รอคอยเธออยู่่ที่บ้านกลับไม่ใช่เตียงอันอบอุ่นหรือประชากรที่มารอต้อนรับแต่กลายเป็นอาณาจักรที่กำลังลุกเป็นไฟด้วยเพลิงแห่งสงคราม

เนื้อเรื่องถือเป็นจุดที่โดดเด่นและเป็นข้อดีที่สำคัญที่สุดของ Thronebreaker ใครที่ชื่นชอบเนื้อหาแบบมืดหม่นของ The Witcher ภาคหลักในเกมนี้คุณก็จะเจอกับเนื้อหาในรูปแบบเดียวกัน ภารกิจหลักและภารกิจรองจะพาคุณไปเจอกับเนื้อหาและตัวเลือกที่ตัดสินใจได้ยากเย็น และในฐานะ “ราชินี” การตัดสินใจของ Meve เลยมีมุมมองที่แตกต่างจากการตัดสินใจในภารกิจของ Geralt จาก The Witcher

คุณอาจเลือกปล้นสุสานเพราะต้องการเงินไปพัฒนากองทัพ เลือกตัดสินประหารหรือไว้ชีวิตชาวบ้านที่พึ่งทำผิดมา ทุกอย่างในเกมจะไม่มีฝ่ายไหนถูกผิดแบบชัดเจน และตัวเลือกของคุณก็จะส่งผลกระทบต่อตัวเกมทั้งแบบทันทีหรืออาจย้อนกลับไปทิ่มคุณได้ในภายหลังของเกม

และการที่ตัวเกมใช้โลกของ The Witcher เป็นฉากหลังก็ถือเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของเกม เพราะหากคุณไม่เคยติดตามเรื่องราวของ The Witcher มาก่อนคุณก็คงจะไม่อินกับเนื้อหาที่เกมนี้นำเสนอแม้เนื้อเรื่องหลักของเกมจะถือว่าถูกเขียนมาอย่างดีก็ตาม

Care For A Round of Gwent?

ระบบการเล่นหลักแทบทุกส่วนของเกมนี้ผูกอยู่กับเกมการ์ด Gwent ซึ่งใครที่เคยเล่น The Witcher 3 คงคุ้นเคยกันดี แต่ Gwent ในเกมนี้จะเป็น Gwent ฉบับยกเครื่องกติกาใหม่ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับในเกม GWENT: The Witcher Card Game ซึ่งเป็นเกม Multiplayer เล่นฟรีที่ทีมงานทำแยกออกมา

สำหรับกติกา Gwent ฉบับใหม่ โดยหลัก ๆ แล้ว ณ ตอนนี้ Gwent ฉบับใหม่จะมี “เลน” แบ่งออกเป็นสองเลน และมีกติกาหลักเหมือนเดิมคือสองฝั่งสลับกันวางการ์ดจนกว่าจะพอใจและจบรอบ ฝ่ายที่มีคะแนนเยอะกว่าในรอบนั้นจะได้รับแต้มไป ใครชนะครบสองรอบก็ถือว่าเป็นผู้ชนะเกม

ส่วนที่แตกต่างกันคือใน Gwent ฉบับปรับปรุงนั้นการ์ดทุกใบจะมีความหลากหลายมีความสามารถมากยิ่งขึ้น ใครที่ชินกับการลงการ์ดแต้มเยอะ ๆ หรือถล่มศัตรูด้วย Spy แบบใน Witcher 3 ก็ขอให้คิดเสียใหม่ครับ เพราะฉบับปรับปรุงนั้นตัวเกมมีเทคนิคและความหลากหลายเพิ่มขึ้นมากไปอีกหลายขั้น

โดยหลักแล้วตัวเกมจะใช้การ์ดแทน “กองทัพ” ของ Meve ซึ่งการต่อสู้และทำภารกิจก็จะเป็นการต่อสู้กันด้วย Gwent แต่ตัวเกมก็มีการใส่ภารกิจแบบพิเศษเช่นปริศนาหรือกติกาพิเศษแบบต่าง ๆ เช้ามาเพิ่มความท้าทาย ยกตัวอย่างเช่นการจัดการการ์ดใบนี้ให้ได้ในเวลาที่กำหนด หรือการลดพลังชีวิตของการ์ดศัตรูให้เหลือ 1 ให้ได้ทุกใบ

ในการต่อสู้ทั่วไปเราจะใช้กองการ์ดหลักของเรา ส่วนในภารกิจพิเศษแบบแก้ปริศนาตัวเกมจะจัดการ์ดที่จำเป็นมาให้ใช้งาน ซึ่งใครที่ไม่เคยเล่น Gwent มาก่อนก็สามารถมาหัดเล่นกันได้ในเกมนี้ แต่บอกไว้ก่อนว่าความสามารถของการ์ดค่อนข้างจะแอบซับซ้อนเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

กองทัพเดินด้วยการ์ด

นอกจากการใช้การ์ด Gwent จะเป็นหัวใจหลักของการเล่น ตัวเกมก็ใส่ส่วนผสมในด้านของเกม RPG เข้าไปด้วย มีทั้งการเก็บทรัพยากร (ซึ่งมี 3 อย่างคือ เงิน เสบียง และกำลังพล) ทรัพยากรนั้นใช้ในการอัพเกรดแคมป์หลักและสร้างการ์ดใหม่ ๆ การอัพเกรดแคมป์ก็ช่วยเพิ่มการ์ดและความสามารถใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ให้กับเรา

การ์ดซึ่งเป็นตัวแทนเหล่าทหารและกำลังพลในกองทัพก็มีหลายรูปแบบ การต่อสู้ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาชนะศัตรูให้ได้ด้วยกติกา Gwent แต่ทีมงานก็ใส่ลูกเล่นหลายอย่างเข้าไปในเกมไม่ให้เราเบื่อ แต่แน่นอนว่าต่อให้มีความหลากหลายมากแค่ไหนตัวเกมก็ยังใช้ Gwent ในการขับเคลื่อนดังนั้นใครคาดหวังจะมาเห็นฉาก Action หรือกราฟฟิกหรูหราขอให้คิดใหม่ได้เลยครับ

ภายในเกมยังมีการ์ดพิเศษเป็นเหล่าตัวละครสำคัญที่คุณได้รับมาร่วมทีม การ์ดเหล่านี้มาพร้อมความสามารถพิเศษที่ทรงพลังและพวกเขาก็มีเนื้อเรื่องเป็นของตัวเอง บางครั้งการตัดสินใจบางอย่างของเราในเกมยังสามารถส่งผลให้เพื่อนบางคนไม่พอใจและทิ้งเราไป ประโยชน์อีกอย่างของเพื่อนเหล่านี้คือพวกเขาสามารถช่วยเราแก้ไขเหตุการณ์หรือภารกิจบางอย่างได้ด้วยวิธิพิเศษเฉพาะตัว ไม่จำเป้นต้องเสียเลือดเสียเนื้อต่อสู้ให้เปลืองแรง

รูปแบบการเล่นของตัวเกมก็จะเป็นการเดินสำรวจในแผนที่เพื่อไปพบจุดที่น่าสนใจหรือทำภารกิจหลักและภารกิจรอง โดยในแผนที่ก็มีของซ่อนให้เราได้ไล่เก็บทั้งเงินทอง ทรัพยากร รวมไปถึงหีบของรางวัลพิเศษซึ่งอาจเป็นการ์ดหรือกรอบ Profile ให้เรานำไปใช้ในเกม GWENT: The Witcher Card Game เกม Multiplayer ซึ่งจุดนี้อาจทำให้ผู้เล่นเกม Gwent ดูจะมีความคุ้มค่ามากกว่าที่จะหาเกม Thronebreaker มาเล่น แต่ต่อให้คุณไม่สนใจเกม Gwent ผมว่าโดยรวมแล้วเนื้อหาใน Thronebreaker ก็คุ้มค่าน่าสัมผัสอยู่ดีหากคุณเป็นแฟนเกม The Witcher ตัวยง

สานต่อตำนาน The Witcher

เป็นที่แน่นอนว่าตัวเกม Thronebreaker ไม่ได้สมบูรณ์แบบตัวเกมมีข้อเสียอยู่บ้างบางจุด เช่นการที่ระบบ RPG ไม่ได้มีความลึกมากนัก หรือการที่ตัวเกมดูง่ายเกินไปในบางจังหวะ และที่สำคัญตัวเกมก็ไม่ใช่เกมทุนหนาระดับ AAA เหมือนกับอื่นที่ผ่านมาของค่าย ดังนั้นอย่าคาดหวังกราฟฟิกอลังกาลงานสร้างแบบจัดเต็ม แต่ถึงตัวเกมอาจจะไม่มีทุนสร้างมหาศาลแต่เราก็สามารถมองเห็นความใส่ใจในทุกรายละเอียดของทีมงาน CD Projekt ทั้งอนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของตัวการ์ด เสียงพากย์ชั้นดี และรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในมุมอื่นของเกม

นี่อาจจะไม่ใช่เกมที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และอาจจะไม่ใช่เกมการ์ดที่มีความลุ่มลึกนำหน้าเหนือชั้นเกมการ์ดตัวอื่น แต่ด้วยเนื้อเรื่องชั้นดี ระบบการเล่นที่สนุก ส่วนผสมความเป็น RPG ที่แม้จะเรียบง่ายแต่ก็ลงตัว ทุกอย่างรวมกันออกมาเป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่แฟนจักรวาล Witcher น่าหามาลองกัน

รายละเอียดอื่น ๆ ของตัวเกม

ตัวเกมมีความยากให้เลือก 3 ระดับ

ความยาวของตัวเกมอยู่ที่ 20 – 30 ชั่วโมง

แผนที่หลัก 5 แผนที่ (หากรวมแผนที่บทนำจะมีทั้งหมด 6 แผนที่)

สามารถเชื่อมโยง ID กับเกม Gwent เพื่อรับการ์ดพิเศษจากเกมนี้

เกณฑ์การให้คะแนนรีวิวจาก GamingDose

**ขอขอบคุณ CD Projekt Red สำหรับ Key ในการรีวิว**

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Related posts

Read More
Back to top