BY Nattapit Arsirawatvanit
11 Aug 21 5:22 pm

รีวิว Assassin’s Creed Valhalla: The Siege of Paris

55 Views

ส่วนเสริมตัวที่สองของ Assassin’s Creed Valhalla เป็นอีกครั้งที่ GamingDose ได้รับเกียรติจาก Ubisoft ให้สัมผัสก่อนอย่างเต็มรูปแบบ มาดูกันว่าเรื่องราวของการบุกปารีสของเหล่าชาวแดนเหนือจะจบลงในรูปแบบไหน ในรีวิว Assassin’s Creed Valhalla: The Siege of Paris

เนื้อเรื่อง

นี่เป็นอีกวันหนึ่งสั้น ๆ ง่าย ๆ ในชีวิตของ Eivor อย่างที่ผู้พัฒนาเคยสัญญาไว้ว่า เขาจะไม่เอาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักมาเล่าใน DLC เหมือนภาคก่อนหน้าอีกแล้ว ทำให้ภาคนี้ เรื่องราวใน DLC จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัว Eivor โดยตรง แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักของจักรวาล หรืออาจมีความเกี่ยวข้องเพียงนิดเดียวจนไม่สร้างผลกระทบใด ๆ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ Eivor ได้รับการติดต่อจากไวกิงจากราชอาณาจักรแฟรงก์ ให้ไปช่วยเป็นมือเป็นเท้าให้หน่อย โดยมีข้อมูลเพียงน้อยนิดว่า ชาวไวกิงพวกนี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ ๆ ปารีส แต่ด้วยความที่ชาวแฟรงก์ปิดประตูไม่ให้เข้าบ้าน แถมยังสังหารน้องชายสุดที่รักของ Siegfried จาร์ลของไวกิงกลุ่มนี้ไปอีก แต่เมื่อสืบเรื่องราวไปเรื่อย ๆ Eivor จะรู้ว่ามันมีตื้นลึกหนาบางอะไรที่มากกว่านั้น และเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงความขัดแย้งชุดเดียว มันยังมีคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุอยู่ และ Eivor นี่ล่ะ คือตัวแปรที่จะมาทำให้เหตุการณ์ทั้งหมด ถึงจุดสิ้นสุด

ยังคงคอนเซปต์เดิมของ Assassin’s Creed คือเรื่องราวเหล่านี้ จะต้องเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เหตุการณ์ในครั้งนี้นำเอา Siege of Paris อันยิ่งใหญ่ในช่วงยุคคริสตศักราช 885-886 มาเล่าในแบบฉบับของตัวเอง แต่อาจจะมีการบิดนิดบิดหน่อยให้เข้ากับเรื่องราว โดยเฉพาะถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์นี้อยู่แล้ว ก็อาจจะขัดใจกับความคาดเคลื่อนระดับที่ว่ามีการเรียงเหตุการณ์ผิดปีไปเลยบ้าง แต่โดยรวมก็ยังเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ

จังหวะการเล่าของ The Siege of Paris ถือเป็นรสชาติใหม่ของ Valhalla อย่างแท้จริง และถือเป็นครั้งแรกที่ตัวเกมเลือกจะฉีกวิธีเล่าแบบเดิม ๆ ที่ทำในเนื้อเรื่องหลัก และภาคเสริมตัวแรก ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสดใหม่บางอย่าง แม้ตัวเกมจะเล่าถึงการรุกรานของไวกิงก็จริง แต่คราวนี้ตัวเกมกลับมาตั้งคำถามอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยไม่ชักจูง หรือชี้นำผู้เล่นเหมือนเนื้อหาหลัก ปล่อยให้เราทำความเข้าใจ และเลือกตัดสินใจเองตามสิ่งที่คุณคิด หรือคุณรู้สึกอยู่ ณ ขณะนั้น

แม้ลักษณะโดยรวมในด้านเนื้อหาของ The Siege of Paris อยู่ในเกณฑ์ดี แต่จังหวะการเล่าเรื่องยังคงหาจุดสมดุลไม่ได้ หากจะบอกว่าเนื้อหาหลัก และภาคเสริมแรก มีความอืดอาดยืดยาดอยู่ในตัว เนื้อหาของ The Siege of Paris ก็คงจะเป็นการเร่งความเร็วจนเกินพอดี เพราะคุณจะสัมผัสไม่ได้เลยว่า คุณกำลังอยู่ ณ จุดไหนของเรื่องราว และบางทีบทสรุปของเหตุการณ์ อาจผ่านหน้าคุณไปโดยที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรด้วยซ้ำ

การนำเสนอ

ถ้าแผนที่กว้างโล่งแต่ไม่มีอะไรเลยทำคุณผิดหวัง The Siege of Paris น่าจะเป็นการส่งสาส์นอย่างชัดเจนแล้วว่า “ฉันรู้ตัวแล้วนะ ว่าฉันทำอะไรผิดไป” แผนที่ของภาคเสริมตัวนี้มีขนาดพอเหมาะพอเจาะ พอดีให้ Ubisoft ใส่รายละเอียดลงไปโดยไม่ทิ้งที่โล่งให้เปล่าประโยชน์ คุณจะเห็นทั้งพื้นที่เขียวขจี พื้นที่สงครามที่ถูกไฟไหม้ บ้านเมืองที่พังเละเทะ หรือแม้กระทั่งไร้องุ่นที่ใส่ฟีลเตอร์ซะสีสดเชียว ก็มีให้คุณเดินเที่ยวเล่น

ไฮไลท์เด็ดของแผนที่คือการออกแบบเมือง ในภาคนี้ Paris ถือเป็นหัวใจหลักของการเล่น ฉะนั้นการจำลองเมืองออกมาให้สมจริง ย่อมเป็นอะไรที่สำคัญที่สุด ในภาคนี้เราบอกได้เลยว่า แม้มันจะไม่ถึงเกณฑ์เพราะมีตัวเกมหลักครอบหัวเอาไว้ แต่โดยรวม มันคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเกมภาคนี้ เมืองมีโซนแต่ละโซนชัดเจน ชาวบ้านมีลักษณะเฉพาะ เช่นถ้าคุณเดินเข้าไปในสลัม คุณจะเห็นคนไร้บ้านนอนเกลื่อนกลาด ถ้าคุณเข้าไปในโบสถ์ คุณจะเจอกับกลุ่มคนที่ติดโรคระบาด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เทียบเคียงไปกับเนื้อหา และช่วยส่งอารมณ์ให้คุณเข้าใจรายละเอียดในพื้นที่นั้น ๆ ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรในเนื้อหาหลักได้เป็นอย่างดี

คอนเทนต์ที่เพิ่มเข้ามาเป็นกิมมิคเล็ก ๆ อย่าง “กองทัพหนู” แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แต่ก็ถือเป็นกิมมิคเล็ก ๆ ที่สนุกดี เพราะมันจะช่วยให้ปริศนาทั้งหลายดูสดใหม่กว่าที่เคยเป็น เพราะมันเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะผสานรวมกับปริศนาอื่น ๆ จนกลายเป็นตัวแปรอีกหลายตัวที่ใช้งานได้ แต่ถึงจะพูดแบบนั้น ปริศนาในภาคเสริมก็อาจจะเป็นอะไรที่ “ค่อนข้างง่าย” กว่าที่คุณเคยเจอมาทั้งหมด ตรงนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผู้พัฒนาเขาเบื่อหรืออย่างไร เอาเป็นว่าในการเล่นครั้งนี้ จะไม่มีปริศนาใด ๆ ที่เจอแล้วหัวปั่นไป 15-30 นาทีแน่นอน

เกมการเล่น

อย่างที่เราเคยบอกไปในรีวิวทุกรูปแบบของ Assassin’s Creed Valhalla ว่าเกมมันเน้นให้ลุยซึ่งหน้า การลอบฆ่าเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น และดันเป็นทางเลือกที่ทั้งช้ากว่า ยากกว่า แถมไม่ได้รับประโยชน์อะไรเพิ่มเติมอีก ทำให้การลอบฆ่าในเกมภาคนี้ แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลยในการเล่น

แต่ใน The Siege of Paris การลอบฆ่า คือ “หัวใจสำคัญ” ของการเล่นอย่างที่สุด เพราะเนื้อหา รวมถึงภารกิจต่าง ๆ จะพยายามบังคับให้คุณเล่นเป็นนักฆ่าให้ได้ โดยเฉพาะการนำระบบแบบภาค Unity มาดัดแปลงใส่เข้าไป คือคุณจะต้องสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายอยู่ในจังหวะที่เหมาะแก่การสังหารมากที่สุด โดยในเกมจะมีมิชชันแบบนี้ประมาณ 5 ภารกิจให้คุณได้ไปเล่นกัน โดยแต่ละภารกิจก็จะมีวิธีแตกต่างกันไปในการลากเป้าหมายออกมาฆ่า

แต่ถ้าจะลุยซึ่งหน้าแบบเดิมได้ไหม เราบอกเลยว่าทำได้ และไม่มีผลกระทบด้วย จะไม่มีการเกมโอเวอร์เวลาศัตรูพบหน้าคุณอะไรใด ๆ ทั้งนั้น แต่ตัวเกมก็จะแก้แค้นเราด้วยการให้อะไรยาก ๆ จนเราไม่อยากลุยเดี่ยว เริ่มจากการใส่ศัตรูระดับสูงเข้ามามากขึ้นในแต่ละแผนที่ ปกติเราอาจจะเจอกับพวกศัตรูเฉพาะทางมีชื่อไม่เยอะ แต่ในภาคเสริมตัวนี้ คุณเจอไม่ต่ำกว่า 3 ตัวในภารกิจ และพวกนี้จะมีค่าพลังที่ค่อนข้างสูงมาก เอาเป็นว่าต่อให้คุณจบเนื้อหาหลัก จบเนื้อเรื่องแอสการ์ด รวมถึงจบเนื้อหารองทั้งหมด ค่าพลังยังอาจจะเทียบไม่ได้กับเจ้าตัวพวกนี้

ยังไม่รวมถึงเหล่าเป้าหมายที่เราจะต้องสังหาร แม้เป้าหมายเหล่านี้จะดูไม่มีพิษสงใด ๆ แต่ถ้าคุณเลือกเผชิญหน้าเขาอย่างตรงไปตรงมา เขาจะกลายเป็นบอสที่มีค่าพลังสูงทันที เอาจริง ๆ การต่อสู้ก็ไม่ได้ยากมากเท่าไหร่นักหากคุณเล่นได้สมบูรณ์แบบ เพียงแต่จะใช้เวลานานในการปราบ เพราะค่าพลังของศัตรูที่สูงกว่าเราค่อนข้างมาก ฉะนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเล่น The Siege of Paris แบบปลอดภัย คือการเล่นเป็น Assassin ให้แนบเนียนเหมือนภาคก่อนหน้า

พูดถึงเรื่องดี ๆ ไปแล้ว ถ้าไม่พูดถึงเรื่องไม่ดีบ้างก็คงจะไม่ได้ เพราะใน The Siege of Paris มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Rebel Mission หรือมิชชันที่เราจะต้องร่วมมือกับฝั่งกบฏในการสร้างความวุ่นวาย ตรงนี้เปรียบเสมือนโหมดการเล่นใหม่ที่พยายามจะทำมาดูดเวลาแบบ Trade Post ในภาคเสริมก่อนหน้า

ผลคือมันล้มเหลว และน่าเบื่อมาก เพราะภารกิจของ Rebel คือภารกิจซ้ำไปซ้ำมาและไม่มีเรื่องราว ขอให้คุณนึกภาพภารกิจแบบทำซ้ำของเกมออนไลน์ทั่วไป คือรับเสร็จ ไปในจุดที่ต้องการ ตีมอนสเตอร์ให้หมด กลับมาส่งเควส รับรางวัล แล้วทำแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ Rebel Mission มีลักษณะแบบที่ว่ามาทุกประการ และนี่คือจุดด่างพร้อยที่สุดของ DLC นี้ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักใด ๆ เลย ไม่มีผลกระทบ ไม่มีผลต่อเนื่อง ทุกอย่างจบก็คือจบ แถมรางวัลยัง …. เอ่อ ค่อนข้างใช้งานไม่ได้ ฉะนั้นต่อให้มันมีหรือไม่มี ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เขาอาจจะนึกว่ากลัวเราไม่มีอะไรเล่น กลัวไม่คุ้ม ก็เลยใส่เข้ามา ซึ่งนี่เป็นทางเลือกที่แย่มากที่สุดเท่าที่เคยเห็น ตั้งแต่เล่นเกมของ Ubisoft มา

ประสิทธิภาพ

แม้ The Siege of Paris จะเป็นภาคเสริมที่มีขนาดแผนที่เล็กที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมา เพราะตัวเกมหลักเป็นแบบไหน ประสิทธิภาพของภาคเสริมก็ต้องออกมาแบบนั้น ฉะนั้นใน The Siege of Paris จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เรายืนยันว่าหากคุณเล่นภาคหลักได้ในระดับไหน ในภาคเสริมตัวนี้ คุณก็จะเล่นได้ในระดับนั้น

แต่สิ่งที่น่าตกใจ และเป็นเซอไพรส์มาก ๆ คือเราแทบไม่เจอบั๊กเลยจาก DLC นี้ พูดตรง ๆ คือพบแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นบั๊กแบบ Visual ที่เล็กมาก ๆ จนแทบไม่ส่งผลใด ๆ กับเกมการเล่น บั๊กที่ว่านั่นคือการค้นหา Intel ใน Rebel Mission ซึ่งปกติเวลาเรากด V ค้างเพื่อเปิด Odin Vision เป้าหมายของภารกิจก็จะมีออร่าสีเขียวรอบ ๆ มีครั้งหนึ่งที่ออร่าแบบนั้นแสดงตัวอยู่ใต้ดิน ทั้งที่พื้นที่ตรงนั้นไม่มีทางลงไปใต้ดิน และเมื่อค้นหาไปเรื่อย ๆ พบว่า Intel ของภารกิจจริง ๆ แล้วอยู่บนปล่องไฟของบ้าน นี่ถือเป็นบั๊กที่เจอครั้งแรก และครั้งเดียว ของการเล่น The Siege of Paris

สรุป

Assassin’s Creed Valhalla: The Siege of Paris คือภาคเสริมที่ทำออกมาได้ดีเกินเนื้อหาหลัก เพราะเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ น่าติดตาม ทำให้เราอยากค้นหาคำตอบในสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผสานกับการแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ยิบย่อยของ Ubisoft ที่สังเกตได้เลยว่า เริ่มหันมาสนใจ และเริ่มตอบตัวเองได้แล้วว่าคนเล่นเกมนี้เขาต้องการอะไรบ้าง แต่โดยรวมก็ยังมีข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ โดยเฉพาะ Rebel Mission ที่ไม่น่าให้อภัยมาก ๆ และผู้เขียนคิดว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด Ubisoft สามารถใช้แนวคิดจากภาคเสริมตัวนี้เป็นหนทางใหม่ของ Assassin’s Creed ได้เลยด้วยซ้ำไป เพียงแต่อาจจะต้องควบคุมความสมดุล ให้มันกลมกล่อมขึ้นอีกนิดก็น่าจะใช้ได้แล้ว

8/10

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top