BY สฤณี อาชวานันทกุล
1 Apr 21 2:16 pm

Loop Hero: เคล็ดลับของความพยายาม

610 Views

เดินทางมาถึงตอนที่สี่กันแล้วกับคอลั่ม Underdog’s Corner ซึ่งครั้งนี้ขอพาไปรู้จักกับเกม Roguelike น้องใหม่ที่กำลังเป็นกระแสโด่งดังทั่ววงการเกมอย่าง Loop Hero

ในบรรดาแนวเกมสมัยใหม่ที่ฮอตฮิตติดลมบน เกม Roguelike ซึ่งอาศัยการ ‘สุ่ม’ (randomization) และตายแล้วตายเล่า ตายซ้ำตายซ้อนเป็นหัวใจของเกม กำลังมาแรงอันดับต้นๆ โดยเฉพาะสำหรับสตูดิโออินดี้ทั้งหลายที่ไม่ได้มีงบประมาณทำเกมเป็นหลักสิบหรือร้อยล้าน เพราะเกมแนวนี้เน้น “สมดุล” ระหว่างความยากของด่านกับไอเท็มเจ๋งๆ ซึ่งต้องยากขึ้นและเจ๋งขึ้นไปพร้อมๆ กัน มากกว่าจะเน้นความสวยงามสมจริงของกราฟิกซึ่งต้องทุ่มทุนสร้างมากเกินกำลังจ่ายของสตูดิโอจิ๋ว

เกมแนว Roguelike จึงนับเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยสำหรับสตูดิโออินดี้ ถึงแม้จะไม่ง่ายเพราะระบบสุ่มที่ขาดสมดุลจะทำให้ได้เกมที่ง่ายเกินไป ยากเกินไป หรือซ้ำซากจำเจน่าเบื่อเกินไปได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าออกแบบระบบสุ่มในเกมมาดีๆ และเติม ‘บรรยากาศ’ และเรื่องราวที่เข้ากับการสุ่ม ก็อาจได้ดาวค้างฟ้าที่กวาดทั้งเงินทั้งกล่องอย่าง Into the Breach, FTL หรือล่าสุด Hades สุดยอดเกมจาก Supergiant Games 

Loop Hero เกมวางขายเกมแรกจาก Four Quarters สตูดิโออินดี้น้องใหม่จากรัสเซีย (ก่อนหน้านี้พวกเขาส่งเกมเล็กเข้าประกวด LudumDare มาแล้วหลายรอบ แต่ทั้งหมดนั้นเล่นฟรี) เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเกมแนว Roguelike หลังจากที่ขายไปได้กว่าห้าแสน (ครึ่งล้าน!) ก็อปปี้ภายในสัปดาห์แรก ด้วยระดับความติดหนุบหนับลืมเวลาชนิด “เฮ้ย นี่ตีสามแล้วเหรอเนี่ย…”

Loop Hero เป็น Roguelike แต่น้ำหนักค่อนไปทางเกมวางแผนบวกพัสเซิลมากกว่าแอ๊กชั่น (ในแง่นั้นมันจึงใกล้กับเกมอย่าง Into the Breach มากกว่า Hades) ทีมออกแบบผสมระบบเกมก่อนหน้านี้หลายระบบเข้าด้วยกัน เขย่ามันเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อมลงตัว สร้าง “สมดุล” ที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบเป็นอย่างยิ่ง

Loop Hero เปิดฉากด้วยประโยค “ดวงดาวทั้งหลายบนฟากฟ้าดับลงทีละดวง ทีละดวง แต่ไม่มีใครสังเกตเห็น และไม่มีใครหยุดมันได้” เราเล่นเป็นฮีโร่ตามขนบแฟนตาซี ต่างกันที่เราไม่รู้ว่ากำลังสู้กับใคร ศัตรูที่แท้จริงคือใครกันแน่ รู้แต่ว่าโลกนี้จบสิ้นลงแล้ว จบลงอย่างกะทันหันด้วยน้ำมือของโครงกระดูกเรืองแสงที่เรียกตัวเองว่า ลิช (Lich) จากนั้นเราก็ตื่นขึ้นโดยลำพังท่ามกลางความมืดมิด ไม่นานก็เรียนรู้ว่า “ความทรงจำ” ของเราจะช่วยปรับเปลี่ยน ก่อร่างสร้างรูปให้สุญญากาศกลายเป็นโลกใบเดิม (หรือเปล่านะ?) ขึ้นมาอีกครั้ง 

เป้าหมายของเราทุกครั้งที่ออกไปผจญภัย คือ การเอาตัวรอดให้ได้นานที่สุดระหว่างที่วนลูปและต่อกรกับสัตว์ประหลาดระหว่างทาง คอยสร้างสถานที่จาก “ไพ่” (เศษเสี้ยวความทรงจำ) ที่ได้จากสัตว์ประหลาดเหล่านี้ตอนมันตาย เมื่อใดที่ลูปถูกเติมเต็มด้วยสถานที่ต่างๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้ว “บอส” ของด่านก็จะโผล่ออกมาให้เราต่อกรด้วย เมื่อเรากำราบได้แล้ว เส้นเรื่องใหญ่ในเกมก็จะเดินหน้าไปยังบทต่อไป ซึ่งก็หมายถึงบอสตัวใหม่ๆ ไพ่สถานที่ใหม่ๆ ไอเท็มใหม่ๆ ของวิเศษใหม่ๆ และแน่นอนว่ารวมถึงอันตรายใหม่ๆ ที่เราต้องเผชิญหน้าในแต่ละด่าน

การมีชีวิตรอดกลับมาถึงไทล์แคมป์ไฟ (เท่ากับครบหนึ่ง “ลูป”) ในเกมนี้แปลว่าเราจะได้พลังชีวิตเพิ่ม และได้โบนัสตามไพ่สถานที่ที่เราสร้างระหว่างทาง ยิ่งเราเอาตัวรอดได้ติดต่อกันหลายลูป อาวุธและไอเท็มต่างๆ ที่เราเก็บได้จากสัตว์ประหลาดจะทรงพลังกว่าเดิม แต่ศัตรูที่เราเจอก็จะเก่งกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ทำให้ต้องคิดวางแผนพอสมควรว่าตัวเราจะติดไอเท็มเอาโบนัสอะไรดี และจะสร้างไพ่สถานที่ใบไหนตรงไหนบนแผนที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้ทรัพยากรที่เล็งไว้มากที่สุด ทรัพยากรเหล่านี้เราไม่ได้ใช้ระหว่างวนลูป แต่เก็บไว้ใช้ตอนพัฒนาฐานที่มั่น

ความสนุกส่วนหนึ่งของ Loop Hero อยู่ที่การได้ค้นพบคอมโบใหม่ๆ ที่เกมไม่บอก เราต้องเจอเอาเอง (หลายครั้งก็โดยบังเอิญ) เช่น ใช้ไพ่สร้างไทล์หินหรือภูเขาติดกัน 3 คูณ 3 ช่อง มันจะหลอมรวมกลายเป็นภูเขาสูง ทำให้เราได้พลังชีวิตเพิ่มทันที 120 หน่วย แต่ก็จะทำให้ต้องสู้กับตัวฮาร์ปีส์ (นกหน้าผู้หญิงจากเทพนิยายกรีก) ทุกสองวันในเกม, ไทล์ป่าถ้าอยู่ตรงแนวของวัดพายุ (storm temple) จะกลายเป็นไทล์ป่าถูกเผา ช่วยเพิ่มพลังการโจมตีด้วยเวท และถ้าเอาไทล์ป่าถูกเผาไปล้อมไทล์ป่าละเมาะ (grove) ป่าละเมาะจะกลายเป็นป่ากระหายเลือด (hungry grove) ฆ่าศัตรูทุกตัวทันทีที่พลังชีวิตของมันเหลือหนึ่งในห้า แต่ก็โจมตีเราได้ด้วย

คอมโบสนุกๆ และความหลากหลายที่สูงมากในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นไพ่สถานที่ ไอเท็มอาวุธและอุปกรณ์อื่นๆ และค่าต่างๆ ที่ช่วยในการต่อสู้ เช่น ความน่าจะเป็นในการหลบการโจมตี (evasion), ค่าการป้องกันตัว, ค่าพลังเวท, ค่าฟื้นฟูพลังชีวิตอัตโนมัติต่อวินาที (health regeneration), ค่าการดูดพลังชีวิตศัตรู (vampirism), จำนวนโครงกระดูกที่เสกมาสู้ (สำหรับพ่อมด) ฯลฯ ซึ่งค่าเหล่านี้ก็แตกต่างกันไปตามคลาสของฮีโร่ที่เราเลือกเป็น (เริ่มเกมเป็นได้เพียง นักรบ (warrior) แต่จะปลดล็อกคลาสอื่นๆ เช่น ขโมย และพ่อมด ได้ในภายหลังตอนขยายฐานที่มั่น) ไม่นับว่าสัตว์ประหลาดจะเพิ่มระดับความเก่งตามลูปในทางที่ท้าทายเราได้เสมอ และบอสตัวหลังๆ ก็มาพร้อมกับศัตรูที่เก่งกว่าเดิมอีก มันจะมีความสามารถพิเศษมากขึ้น มีพลังโจมตีมากขึ้น ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ทำให้ Loop Hero เป็นเกมที่เล่นซ้ำได้เรื่อยๆ โดยไม่เบื่อเลยแม้แต่น้อย

“ฐานที่มั่น” หรือ camp ของเราในเกม คือสถานที่ที่เราจะกลับออกจากลูปมาหา ทุกครั้งที่เราฆ่าบอสได้สำเร็จ ตาย หรือเลือกที่จะ “หนี” ออกมาจากลูป ระบบเกมจะสลับมามีหน้าตาคล้ายเกมสร้างเมือง เราจะเอาทรัพยากรที่เก็บได้จากลูปมาอัพเกรดหรือสร้างสถานที่ใหม่ๆ เช่น ครัว โรงเลื่อย ช่างไม้ แม่น้ำ ป่าไม้ ฟาร์ม ฯลฯ สถานที่เหล่านี้หลักๆ สร้างเพื่อเพิ่มพลัง ช่วยให้เราสามารถพิชิตลูปต่อไปได้ง่ายขึ้น เช่น สร้างหอนักแม่นธนูไว้ช่วยโจมตีศัตรูที่อยู่ติดกับไทล์แคมป์ไฟ หรือสร้างของวิเศษ (artifacts) พกติดตัวเพื่อเพิ่มพลังชีวิต เพิ่มพลังโจมตี เพิ่มค่าป้องกัน เพิ่มทรัพยากร ฯลฯ ยังไม่นับว่าคลาสใหม่ๆ ของฮีโร่ก็ต้องสร้างสถานที่ในฐานที่มั่นเช่นกัน

เราในฐานะคนเล่น Loop Hero จะเต็มใจเดินทางออกจากฐานที่มั่น ไปผจญภัยในลูปใหม่ (expedition) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (แต่ละลูปใช้เวลาจริงราว 15-45 นาที แล้วแต่คลาสและบทในเกม) เพราะแต่ละด่าน แต่ละลูป ไม่มีคำว่า “สูญเปล่า” – ต่อให้เราถูกสัตว์ประหลาดฆ่าตาย เรายังสามารถเก็บ 30% ของทรัพยากรที่สะสมมาตลอดทั้งด่าน (ไม่ว่าจะผ่านไปแล้วกี่ลูป) เมื่อเราไปจุติใหม่ในฐานที่มั่น 

กลไกที่ฉลาดเป็นกรดของ Loop Hero อยู่ที่การให้ “ทางเลือก” ที่ชัดเจนกับเรา และทางเลือกเหล่านั้นก็ทำให้เราเล็งเห็นหนทางสู่ชัยชนะ(เหนือบอส)ได้ค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะออกเดินทางเข้าลูปใหม่ เราเลือกไพ่สถานที่ได้เลยว่าอยากให้ด่านนี้มีใบไหนปรากฎบ้าง โดยที่ทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนที่เกมกำหนด ซึ่งการได้เลือกไพ่สถานที่ก็เท่ากับเลือกสัตว์ประหลาดและโบนัสที่จะปรากฎ เพราะมันมาตามหน้าไพ่ นอกจากนี้ เรายังเลือกได้ทุกนาทีว่า จะอยาก “หนี” ออกจากลูป กลับมายังฐานที่มั่นหรือไม่ ถ้าเราอยู่ใกล้กับไทล์แคมป์ไฟ เราจะสามารถหนีกลับฐานด้วย 100% ของทรัพยากรและของวิเศษทั้งหมดที่เจอในด่าน เพียงแต่ก็จะไม่ได้สู้กับบอสเพื่อขยับเส้นเรื่องไปข้างหน้า และถ้าเราอยู่ห่างจากไทล์แคมป์ไฟออกมาอีกหน่อย เราก็จะสามารถหนีกลับฐานด้วย 60% ของทรัพยากร และจะไม่ได้ของวิเศษทั้งหมดที่พบ

การเล่น Loop Hero จึงเป็นเรื่องของการวางแผนล่วงหน้าว่า รอบนี้เราจะเน้นการสะสมทรัพยากรเยอะๆ เพื่อมาอัพเกรดฐานที่มั่น (ก็แปลว่าจะหาจังหวะหนีกลับฐาน) หรือว่าจะรอบนี้เราจะเน้นลุยกับบอสแล้ว หรือว่าเราต้องเปลี่ยนแผนกลางคัน อยากสู้กับบอสแต่คิดว่าไม่มีหวังเพราะพลังชีวิตเหลือ 5% และโพชั่นที่เตรียมมาก็หมดเกลี้ยงแล้วตั้งแต่ลูปที่เจ็ด

ทีมออกแบบ Loop Hero ออกแบบระบบ Roguelike ในเกมมา “เป๊ะ” จนทำให้เราเข้าใจว่า “เคล็ดลับ” ที่แท้จริงของความพยายามก็คือ เราจะอยากพยายามก็ต่อเมื่อเรามั่นใจว่า ความพยายามนั้นจะไม่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง

เส้นบางๆ ที่กั้นกลางระหว่างความฮึดสู้กับความท้อแท้อาจมีเพียงแค่นี้เอง

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top