BY StolenHeart
4 Sep 19 11:46 am

Game Gear อดีตเครื่องเกมดัง คู่ปรับคนสำคัญของ Gameboy

115 Views

หากพูดถึงเครื่องเกมมือถือที่เด็กในยุค 90 หลายคนมีในครอบครองและโปรดปราน ก็คงหนีไม่พ้น Gameboy จาก Nintendo อย่างแน่นอน ด้วยเกมที่มีหลากหลายและราคาที่จับต้องได้ ซึ่งในยุคนั้นคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Sega เองก็ไม่อยู่เฉย ส่งเครื่องเกมมือถือมาลงตลาด ด้วยทุกอย่างที่ล้ำหน้ายิ่งกว่าที่ Gameboy มี นั่นก็คือ Game Gear นั่นเอง

อย่างที่ได้เกริ่นไป ว่า Sega ในช่วงยุคปี 80 – 90 นั้นคือคู่แข่งในวงการเกมที่สมน้ำสมเนื้อกับ Nintendo อย่างแท้จริง ทั้งสองค่ายต่างขับเคี่ยวสู้กันด้วยเครื่องเกมคอนโซลของตนมาโดยตลอด มีการส่งคลิปโฆษณาข่มกันทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องว่าเครื่องของตนเองนั้นเจ๋งกว่าฝ่ายตรงข้ามกันแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะทางฝั่ง Sega ที่จัดหนักทุกโฆษณาแบบไม่มีไว้หน้ากันเลย

ตัวอย่างโฆษณาของ Sega ยุค 90 ที่ขิงคู่แข่งอย่างไม่ไว้หน้าใครหน้าไหน

แน่นอนว่า Sega เองก็เคยคิดจะพัฒนาเครื่องเกมสำหรับพกพาเอาไว้อยู่แล้ว โดยการพัฒนานั้นใช้ชื่อว่า Project Mercury และถูกนำมาท้าชนกับ Gameboy ที่วางจำหน่ายในปี 1989 โดยเฉพาะ และ Game Gear จาก Sega ก็ออกวางจำหน่าย พร้อมด้วยสเปกที่เหนือล้ำกว่าทุกอย่าง แบบที่ Gameboy เทียบไม่ติด เพื่อแสดงศักยภาพในการเอาชนะคู่แข่งในเรื่องของกราฟิกและแสงสีเสียงของเครื่องเล่นเกมมือถือที่ตนเองพัฒนา

Game Gear มาพร้อมกับหน้าจอแบบสีมีไฟสว่างสดใสขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 160 x 144 Pixel มีจำนวนสีบนหน้าจอสูงถึง 4096 สี แสดงผลได้สูงสุด 32 สี และด้วยพลังการประมวลผลของ CPU Zilog Z80 ความเร็ว 3.5MHZ ทำให้ภาพและเสียงที่ได้นั้นดูดีพอ ๆ กับการเล่นบนจอทีวีได้เลย

ซึ่งเทียบกับจอขาวดำและไม่มีแสงไฟของ Gameboy แล้ว Game Gear เหนือกว่าแบบไม่ต้องสืบ

ตัวเครื่องเองก็ถูกออกแบบมาให้มีรูปทรงคล้ายคลึงกับคอนโทรลเลอร์ของเครื่อง Mega Drive หรือ Genesis เพื่อเพิ่มความสบายในการถือเล่น และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AA 6 ก้อน เล่นได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง แต่ในภายหลังก็มีการออกตัว Adapter หรือหม้อแปลงเพื่อต่อเล่นกับไฟบ้านและบนรถยนต์ได้ในเวลาต่อมา

ส่วนเกมที่มีให้เล่นนั้นเรียกว่าเพียบพร้อมและมีคุณภาพจัดจ้านไม่น้อย เช่น Column เกม Puzzle แสนสนุก, Sonic the Hedgehog, The GG Shinobi , Street of Rage, Space Harrier และอีกมากมายที่เรียกได้ว่าแทบจะใกล้เคียงกับการเล่นบนเครื่อง Mega Drive เสียด้วย แค่มีปุ่มที่น้อยกว่าเท่านั้น แม้จำนวนเกมในแบบ 3rd Party หรือของผู้พัฒนาเจ้าอื่นจะมีไม่มาก แต่เกมที่อยู่บนระบบ Game Gear นั้นก็มีจำนวนกว่า 300 เกมเลยทีเดียว

และอุปกรณ์เสริมนั้นก็มีมากมายไม่แพ้กัน นอกจากอุปกรณ์จำพวกเคสใส่เครื่องหรือ Adapter แล้ว ยังมี TV Tuner ที่เปลี่ยน Game Gear ให้กลายเป็นทีวีขนาดจิ๋วได้ด้วย ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เคยมีอยู่ตัวหนึ่ง แต่เนื่องจากเสารับสัญญาณของบ้านเราในยุคนั้นค่อนข้างจะจำกัด และมีสัญญาณรบกวนมาก ทำให้ใช้งานได้ไม่เวิร์คเท่าใดนัก หรือ Master Gear Converter ที่แปลงให้เครื่อง Game Gear สามารถเล่นเกมของเครื่อง Master System ได้ แต่ในบ้านเราเจ้าเครื่อง Master System นี้ไม่ได้รับความนิยมนัก ทำให้มันถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว

แม้ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเหนือกว่าคู่แข่ง แต่จุดอ่อนอันใหญ่หลวงของ Game Gear ก็มาจากประสิทธิภาพของมันเอง

ด้วยการที่ตัวของมันเองนั้นใช้แบตเตอรี่ค่อนข้างเยอะ และเล่นได้ไม่นานเพียง 4 ชั่วโมง ทำให้ไม่สะดวกแก่การนำไปเล่นนอกบ้านหรือตอนเดินทางมากนัก ในยุคนั้นค่าแบตเตอรี่แบบ AA 6 ก้อนก็มีราคาที่สูงเอาเรื่องอยู่

เมื่อนำมาเทียบกับ Gameboy ที่ใช้ถ่านแค่สี่ก้อนแถมเล่นได้นานกว่า(แค่เล่นในที่มืดไม่ได้) เท่านี้ก็แทบจะเทียบกันไม่ติดแล้ว แถมด้วยจำนวนเกมแบบ 3rd Party ที่มากกว่าอย่างมหาศาล มีตัวเลือกเพื่อความสนุกที่มากกว่า และด้วยราคาที่สูงถึง $150 แพงกว่า Gameboy ที่ขายเพียง $90 จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเลือก Gameboy กันมากกว่าเพราะความคุ้มค่าที่กินขาดนี้นั่นเอง

แม้ยอดขายจะเทียบคู่แข่งไม่ติด Game Gear ก็ยังขายไปได้ถึง 10.62 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นวันแรกจนถึงวันสุดท้ายในปี 1997 และยังสามารถเอาชนะเครื่องเกมมือถือเจ้าอื่นที่ตามมาอย่าง Atari Lynx และ NEC Turbo Express ไปได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องเกมที่มอบประสบการณ์ในการเล่นที่ยอดเยี่ยมไม่น้อย ด้วยภาพและเสียงที่สุดกว่าเจ้าอื่น ๆ แถมยังเป็นเครื่องที่บ่งบอกฐานะด้วยว่า คนที่ครอบครองมันนั้นต้องมีเงินในระดับหนึ่งอีกด้วย

ปัจจุบันนี้ Sega ไม่ได้พัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ออกมาหลังจากการล่มสลายของ Dreamcast และพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเกมเพียงอย่างเดียว กระนั้นสิ่งที่พวกเขาเคยสร้างเอาไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเกมสามารถก้าวไปข้างหน้าได้จนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงเครื่อง Game Gear เองก็สามารถไปนั่งอยู่ในใจผู้ที่เคยครอบครองมันในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยกราฟฟิกและสีสันเฉพาะตัวแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน รวมไปถึงตัวของผู้เขียนเองด้วยเช่นกันครับ

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top