หลังจากรอคอยกันมานานเกือบทศวรรษในที่สุด Civilization 7 ก็เตรียมเปิดให้เล่นอย่างเต็มรูปแบบกันแล้ว แน่นอนว่าตัวเกมภาคใหม่ก็มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจทำให้แฟนเกมวางแผนระดับตำนานนี้ทั้งตื่นเต้นและสงสัยว่ามันจะยังคงรักษาเสน่ห์ของเกมต้นฉบับไว้ได้หรือไม่
เพราะ Firaxis ได้เลือกที่จะพลิกโฉมแนวทางการเล่นแบบดั้งเดิม ด้วยการออกแบบระบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของเกม การพัฒนาอารยธรรม ระบบผู้นำ และองค์ประกอบเชิงกลยุทธ์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของ CiV 7 มีจุดน่าสนใจตรงไหนบ้าง วันนี้เราจะพาไปไล่เรียงสำรวจกัน
การแบ่งยุคสมัยที่ชัดเจน
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นที่สุดคือการแบ่งเกมออกเป็นสามช่วงยุคหลัก ทุกคนในเกมเริ่มและจบยุคพร้อมกัน ในแต่ละยุคจะมีลูกเล่น Gameplay ของยุคนั้น ๆ ซึ่งต่างจากภาคก่อนหน้าที่ให้ผู้เล่นพัฒนาอารยธรรมเดียวตั้งแต่ต้นจนจบเกม
ในภาคนี้ ผู้เล่นจะต้องพัฒนาอารยธรรมของตนเองไปตามช่วงเวลา ประกอบด้วยยุค Antiquity ซึ่งเป็นยุคแห่งการก่อตั้งอารยธรรม ยุค Exploration ที่เน้นการขยายอาณาเขตและค้นพบดินแดนใหม่
และยุค Modern ซึ่งเป็นช่วงเวลาของเทคโนโลยีและความก้าวหน้า การแบ่งยุคในลักษณะนี้ทำให้เกมมีโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาของเกมภาคก่อน ๆ ที่อารยธรรมบางอารยธรรมอาจมีความได้เปรียบในช่วงต้นเกม
อารยธรรมที่พัฒนาไปตามยุค
การเปลี่ยนแปลงอีกจุดคือผู้เล่นจะต้องเลือกอารยธรรมใหม่เมื่อเข้าสู่ยุคถัดไป ซึ่งหมายความว่าการเลือกอารยธรรมไม่ได้ตายตัวอีกต่อไป การตัดสินใจว่าจะเลือกอารยธรรมใดขึ้นอยู่กับแนวทางการเล่นของผู้เล่นในยุคก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น หากมุ่งเน้นไปที่การสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง อารยธรรมที่มีจุดเด่นด้านการทหารอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด การที่สามารถเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างยุคได้ทำให้เกมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
การเลือกผู้นำที่ไม่ผูกกับอารยธรรม
นอกจากระบบอารยธรรมที่เปลี่ยนไป ระบบผู้นำก็ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นกัน ผู้นำใน Civilization 7 ไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นผู้นำของอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งอีกต่อไป แต่สามารถจับคู่กับอารยธรรมใดก็ได้
เช่น Hatshepsut ผู้นำหญิงจากอียิปต์ อาจเป็นผู้นำของอารยธรรมโรมันก็ได้ นอกจากนี้ ผู้นำแต่ละคนยังสามารถพัฒนาได้ผ่านระบบ Attribute Points ซึ่งคล้ายกับการอัปเกรดตัวละครในเกม RPG ผู้นำจะได้รับแต้มพัฒนาตามความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และการทหาร
และแต้มเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการอัปเกรดความสามารถเฉพาะตัว ทำให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งกลยุทธ์ของตนเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเกมมากขึ้น เรียกได้ว่าทำให้การ Mix & Match ตัวความสามารถผู้นำ กับอารยธรรมมีความสนุกและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
การเติบโตของเมืองที่เปลี่ยนไป
อีกระบบหนึ่งที่ได้รับการออกแบบใหม่คือการขยายตัวของเมือง ซึ่งต่างจากภาคก่อนที่เมืองจะขยายตัวอัตโนมัติเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ใน Civilization 7 ผู้เล่นจะต้องเลือกซื้อพื้นที่รอบเมืองเองเมื่อเมืองเติบโตขึ้น
ระบบนี้ช่วยให้ผู้เล่นสามารถควบคุมการขยายอาณาเขตได้ดีขึ้น และต้องวางแผนให้รอบคอบเกี่ยวกับการเลือกใช้พื้นที่ นอกจากนี้ ระบบ Towns หรือเมืองขนาดเล็กก็ถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการขยายอารยธรรม โดยเมืองประเภทนี้ไม่มีคิวการผลิต แต่จะเปลี่ยนค่าการผลิตเป็นทองคำโดยตรง ผู้เล่นสามารถใช้ทองเพื่อซื้อยูนิตและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเมืองเหล่านี้ได้
การพัฒนาเมืองยังได้รับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ระบบการปรับปรุงพื้นที่หรือ Improvements เช่น การสร้างฟาร์มหรือเหมืองแร่ ไม่ต้องใช้ Workers อีกต่อไป แต่จะถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเมืองขยายไปถึงพื้นที่เหล่านั้น
นอกจากนี้ Tiles หรือช่องตารางของเมืองถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ Rural Tiles ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการผลิตทรัพยากร และ Urban Tiles ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่สามารถเลือกสร้างได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดรูปแบบของเขตเมืองเหมือนใน Civilization 6
การทูตและการทหารที่ได้รับการปรับปรุง
ในส่วนของระบบการทูต Civilization 7 ได้เพิ่มค่า Influence ซึ่งเป็นทรัพยากรใหม่ที่ใช้ในการดำเนินการทางการทูต เช่น การสร้างพันธมิตร การทำสนธิสัญญา หรือแม้แต่การก่อวินาศกรรมฝ่ายตรงข้าม ระบบนี้ทำให้การเมืองระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ของผู้เล่นในการเจรจาต่อรองหรือทำสงคราม
ระบบกองทัพเองก็ได้รับการปรับปรุงใหม่เช่นกัน ในภาคนี้ หน่วยทหารที่ได้รับคำสั่งให้ป้องกันพื้นที่จะสร้างป้อมปราการขนาดเล็กขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกัน และหน่วยสอดแนมสามารถสร้างหอคอยชั่วคราวเพื่อเพิ่มระยะการมองเห็น
ยูนิตทางทหารยังสามารถเคลื่อนที่ข้ามแม่น้ำและทะเลตื้นได้ตั้งแต่ต้นเกม ทำให้การสำรวจและขยายดินแดนทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบ XP และการอัปเกรดยูนิตแบบดั้งเดิมได้ถูกแทนที่ด้วยระบบใหม่ที่เรียกว่า Commander ซึ่งเป็นยูนิตพิเศษที่สามารถเพิ่มค่าประสบการณ์และคำสั่งพิเศษให้กับกองทัพโดยรอบ
Crisis Event
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ Civilization 7 คือการเพิ่มระบบ Crisis Events ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายของยุค Antiquity และ Exploration ที่จะส่งผลกระทบต่อเกมในระดับมหภาค เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดสงคราม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ผู้เล่นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
องค์ประกอบยิบย่อยมากมายที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่แฟนๆ หลายคนรอคอยคือการนำแม่น้ำที่สามารถเดินเรือได้กลับมา ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เคยได้รับความนิยมใน Civilization ภาคก่อนๆ และถูกตัดออกไปในภาค 6 ในภาคนี้ แม่น้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายอารยธรรม
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเหตุการณ์แบบสุ่มที่คล้ายกับระบบ Event ของเกมวางแผนอื่นๆ เช่น การได้รับข้อเสนอพิเศษจากพ่อค้า หรือการต้องตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรม
ในแง่ของงานศิลป์และเสียงประกอบ Civilization 7 ยังคงรักษามาตรฐานของแฟรนไชส์ไว้อย่างดีเยี่ยม ฉากแผนที่ได้รับการออกแบบให้มีรายละเอียดที่สวยงามมากขึ้น แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันเพราะภาคนี้งานศิลป์ของเกมย้อนไปใช้การออกแบบที่เน้นความสมจริงแตกต่างจากในเกมภาคที่แล้ว
เมืองแต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันตามอารยธรรมของตนเอง เสียงประกอบในเกมได้รับการพัฒนาให้มีความสมจริงยิ่งขึ้น ตั้งแต่เสียงของการรบไปจนถึงเพลงประกอบที่แต่งขึ้นโดย Christopher Tin นักแต่งเพลงชื่อดังที่เคยสร้างสรรค์เพลง “Baba Yetu” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดนตรีประกอบจาก “วิดีโอเกม” ที่โด่งดังที่สุดในโลกในเกมภาค Civilization 4
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายอย่าง แต่แก่นหลักของ Civilization ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือความสนุกของการสร้างอารยธรรมและการพิชิตโลก อย่างไรก็ตาม การแบ่งยุค การเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างเกม และการปรับโครงสร้างเมืองใหม่อาจจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทั้งหมดของเกมไปมากขนาดไหนนั้น…
ก็คงต้องรอให้แฟนเกมได้ลองสัมผัสด้วยตนเองและตัดสินด้วยตัวเอง