BY Prab Laoharojanaphan
15 Jul 18 4:25 pm

3 ปี Cities: Skylines ทบทวนความเปลี่ยนแปลงของเกมสร้างเมืองแห่งทศวรรษ

105 Views

รีวิวเกมสร้างเมืองนี้กันอีกครั้งในมุมมองที่กว้างขึ้น 

Cities: Skylines (2015) เป็นเกมสร้างเมืองที่พัฒนาโดย Colossal Order (CO) ค่ายเกมเล็กๆจากประเทศฟินแลนด์  CO ที่ไม่เพียงแต่มีพนักงานเพียง 15 คนเท่านั้น ผลงานเกมในอดีตก็เป็นเพียงเกม traffic simulation เล็กๆที่ชื่อว่า Cities in Motion ที่แทบไม่มีใครรู้จัก

แต่หลังจาก “a colossal failure” ความล้มเหลวครั้งใหญ่หลวงของ SimCity (2013) ที่ทำลายเฟรนไชต์เกมสร้างเมืองอายุ 25 ปีนี้อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ผู้เล่นต้องสร้างเมืองในแผนที่ขนาดเล็กๆ บังคับเล่นออนไลน์ตลอดเวลาในช่วงแรกๆของการจำหน่าย และไม่อนุญาตให้ผู้เล่นปรับแต่ง assets ในเกมได้  Cities: Skylines ก็ผงาดขึ้นมาเป็นเกมสร้างเมืองน้องใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะกราฟฟิค 3D ที่ลื่นไหล แผนที่ขนาดใหญ่ และระบบสนับสนุน modding community ที่ให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งเกมได้อย่างง่ายดาย สานฝันผู้เล่นเกมสร้างเมืองทั่วโลกที่รอคอยเกมสร้างเมืองดีๆมาแทนที่ SimCity 4 (2003) ได้เสียที

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กลับมาเล่น Cities: Skylines อีกครั้งและพบประเด็นชวนคุยที่น่าสนใจหลายเรื่อง จึงถือโอกาสนี้ทบทวนความเปลี่ยนแปลงของเกมสร้างเมือง ชวนคุยประเด็นที่น่าสนใจ รีวิวเกมสร้างเมืองนี้กันอีกครั้งในมุมมองที่กว้างขึ้น

Cities Skylines image1

เมืองในฝัน(หรือนรก) เราสร้างเอง

3 ปี “Games-as-a-Service” ของ Cities: Skylines

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญของอุตสาหกรรมเกมในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาคือการเปลี่ยน business model จากการพัฒนาแล้วขายเกมเป็นครั้งๆแล้วจบไป สู่การพัฒนาเกมเพื่อสามารถขาย “ส่วนเสริม” ต่อไปได้เรื่อยๆ “Games-as-a-Service” คือแนวคิดการมองเกมว่าไม่ใช่สินค้า แต่คือบริการที่ผู้เล่นสามารถจ่ายเงินให้กับเกมได้ตลอดการเล่น ในช่วงต้นปี 2000 การขาย DLC เริ่มเข้ามาแทนที่ expansion pack แบบเดิม บริษัทเกมเริ่มหารายได้จาก extra content เล็กๆน้อยๆเช่นปืนใหม่ แผนที่ใหม่ โหมดเกมใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อดีของ Games-as-a-Service คือการทำให้ราคาเกม​ “แบบเริ่มต้น” (standard price) ไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้ต้นทุนการพัฒนาเกมจะสูงขึ้นทุกปี เปิดโอกาสให้ผู้เล่นตัดสินใจเลือกและจ่ายซื้อ content ตามที่ตนเองต้องการ แต่ข้อวิจารณ์สำคัญคือ Games-as-a-Service อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้สร้างเกมคัดเลือก content บางส่วนมาขายแยกในภายหลังทั้งๆที่ควรจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเกมเวอร์ชั่นวางจำหน่ายตั้งแต่ต้น

สำหรับ Cities: Skylines ปัญหาสำคัญของเกมเวอร์ชั่นแรกคือ features ต่างๆในเกมมีน้อยเกินไปมากเมื่อเทียบกับซีรี่ย์ SimCity ในอดีต เช่นการขาดระบบกลางวัน-กลางคืนและภัยพิบัติ  แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาค่ายเกมเล็กๆแห่งนี้ก็ค่อยๆเพิ่ม features ที่หายไปด้วย DLC ที่ตามมาในภายหลัง เช่นการเพิ่มระบบกลางวัน-กลางคืนในส่วนเสริม After dark ที่มาพร้อมกับระบบธุรกิจโรงแรมและธุรกิจกลางคืน เพิ่มระบบภัยพิบัติที่มาพร้อมกับระบบการจัดการภัยพิบัติใน Natural Disasters และล่าสุดกับ Park Life ที่ผู้เล่นสามารถจัด zoning สวนสาธารณะได้ ทำให้การออกแบบสวนสาธารณะในเกมไม่ได้เป็นแค่การตกแต่งเพื่อความสวยความงามของเมืองเฉยๆ แต่มีผลกับค่าความเป็นอยู่ต่างๆของประชากรจริงๆและยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเมืองได้อีกด้วย จุดที่เคยเป็นข้อเสียเดิมของ Cities: Skylines ทยอยได้รับการแก้ไข แถมยังทำได้ดีกว่า ด้วยรายละเอียดที่มากกว่า การกลับมาเล่นเกมนี้อีกครั้งในรอบ 3 ปีจึงให้ความรู้สึกเหมือนได้เล่นเกมใหม่ราวกับเป็นภาคต่อเลยทีเดียว

แม้ผู้เล่นบางส่วนจะวิจารณ์ว่า DLC ต่างๆเหล่านี้ควรมีมาตั้งแต่เกมเริ่มวางจำหน่าย แต่ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า เกมจากบริษัทเล็กๆที่มีพัฒนาในยุคเริ่มต้นเพียง 15 คน พร้อมกับราคาเกมที่ถูกกว่าเกมฟอร์มยักษ์เกือบเท่าตัวนั้น ไม่มีทางเลยที่ Colossal Order จะสามารถพัฒนา Cities: Skylines ให้มี features มากเท่ากับเกมที่มาจากค่ายเกมขนาดใหญ่อย่าง Maxis ด้วยทรัพยากรคน เวลา และงบประมาณที่จำกัด นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญของ Cities: Skylin

es DLCs คือการที่ผู้พัฒนาเกมไม่ได้จงใจขาย “assets” ของเกมเหมือนกับ DLC ส่วนใหญ่ (ปืนใหม่, แผนท่ีใหม่ฯ) แต่เป็นเน้นขาย “features” ที่เพิ่มขึ้นของเกม features ที่ผู้เล่นทั่วไปไม่สามารถสร้างเองได้ และยังเป็น features ที่เปลี่ยนระบบการเล่นอย่างมีนัยยะสำคัญ

Games-as-a-Service สำหรับ Cities: Skylines จึงให้ความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่การจงใจขาย content อย่างมักง่าย แต่คือการพัฒนาเกมให้มีความลุ่มลึกและซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือน expansion pack ของเกมในอดีต ส่วน assets ในเกมเช่นตึกใหม่ ถนนแบบใหม่ ให้เป็นเรื่องที่ผู้เล่นสามารถสร้างและแลกเปลี่ยนกันเองได้อย่างง่ายดายผ่าน Steam Workshop

Cities Skylines image2

Park Life, DLC ล่าสุดที่ผู้เล่นสามารถสวนสนุกเล็กๆกลางเมืองได้ ให้ความรู้สึกเหมือน Tivoli Gardens ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

3 ปี พลังมวลมหา “Modders”

ในขณะที่ปัจจุบันเกมส่วนใหญ่ตัดสินใจปิดโอกาสไม่ให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งแก้ไขอะไรลงในเกมได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการหลักๆ หนึ่งคือเพื่อป้องกันการสร้างโปรแกรมโกงของผู้เล่นออนไลน์ และสองคือเหตุผลทางการเงินที่ผู้พัฒนาเกมต้องการจำหน่าย DLC ที่เป็น assets ใหม่ของเกมได้ในอนาคต

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าเสียดายที่สุดคือการล่มสลายของ GTA modding community ที่ผู้จำหน่าย Take-Two ถึงกับขู่ดำเนินคดีทีมพัฒนาโปรแกรมสำหรับปรับแต่งเกมที่ชื่อว่า OpenIV ซึ่งในอดีตผู้เล่นทั่วไปสามารถปรับแต่งเกม GTA ของตนเองได้มากมาย ทั้งรถใหม่ เครื่องแต่งกายใหม่ อาวุธใหม่ รวมถึงรูปแบบการเล่นใหม่ๆเช่น GTA Online ที่สร้างจากเกมภาค San Andreas แต่ปัจจุบัน GTA กลายเป็นเกมที่ผู้เล่นทั่วไปไม่สามารถปรับแต่งเกมของตนเองได้อีกต่อไป content อย่างพาหนะใหม่ ปืนใหม่ กลายเป็นตัวเลือกไม่กี่อย่างตามที่ผู้พัฒนาออกแบบและขายใน GTA V Online แม้จะไม่บังคับผู้เล่นให้จ่ายเงินซื้อเป็น DLC ตรงๆ แต่ด้วยมูลค่าสินค้าในเกมที่สูงมากๆ ประกอบกับภารกิจใหม่ในเกมที่ยากมากขึ้น สุดท้ายผู้เล่นหลายคนก็ต้องยอมซื้อ Shark Cash Cards เพื่อนำเงินมาซื้อพาหนะใหม่และอาวุธใหม่มาช่วยทำภารกิจให้สำเร็จ

เมื่อเปรียบเทียบกันเราจะพบว่า Cities: Skylines เป็นเพียงไม่กี่เกมที่สนับสนุน modding community อย่างเต็มที่ แนวทาง Games-as-a-Service ของ Cities: Skylines ที่เน้นพัฒนา features ของเกม ปล่อยให้ผู้เล่นสร้าง assets ใหม่แล้วแลกเปลี่ยนกันได้เองอย่างอิสระ โดยไม่จงใจปิดกั้นเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน Steam Workshop ของเกม Cities Skylines มี items ที่ผู้เล่นทำกันเองและเปิดให้ดาวโหลดน์กันฟรีๆมากกว่า 150,000 ชิ้น ซึ่งไม่ได้มีแค่ assets ในเกมอย่างตึกรามบ้านช่องหรือของของตกแต่งเมืองอย่าง ต้นไม้ รั้ว ฯลฯ แต่ยังรวมถึงเครื่องมือเปลี่ยน gameplay ของเกม เช่น Traffic Manager ที่ให้ผู้เล่นสามารถเขียนกฎสัญญาณไฟจราจรได้เอง, Find It ที่ผู้เล่นสามารถค้นหา assets ในเกมด้วยการพิมพ์ชื่อเรียกได้ทันที หรืออย่าง Surface Painter ที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถเก็บรายละเอียดพื้นผิวของเกมได้โดยง่าย เป็นต้น

3 ปีผ่านไป Cities: Skylines ยังติด 1 ใน 100 เกมที่ขายดีที่สุดใน Steam ของปี 2018

สำหรับประเทศไทยเอง กลุ่มผู้เล่นเกมสร้างเมืองของไทยก็ยังคงคึกคัก มีตั้งแต่ผู้เล่นไทยที่สร้างเมืองได้สมจริงมากๆ ผู้เล่นที่ตั้งใจสร้างเมืองให้รถติดมากๆ ผู้เล่นใหม่เข้ามาถามคำถามทั่วไป รวมทั้งเหล่า modders ที่ล่าสุดได้ทำป้ายจราจรไทยมาให้ได้ใช้กัน

แม้ Cities: Skylines จะยังมีข้อเสียที่รอแก้ไขกับสิ่งที่ยังพัฒนาได้อีกหลายอย่าง

แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า Cities: Skylines คือเกมสร้างเมืองสำหรับทศวรรษนี้

ได้เวลาส่ง SimCity เข้านอนอย่างสมบูรณ์

Palm’s Time เป็น YouTube Channel เกมสร้างเมืองแนวสมจริงจากผู้เล่นในกลุ่ม Cities Skyline Thailand

Cities Skylines image3

ป้ายจราจรแบบไทย download ได้ที่ https://steamcommunity.com/sharedfiles/filedetails/?id=1430323338

 

SHARE

Prab Laoharojanaphan

ปราบ - อดีตคอลัมนิสต์เกมที่ห่างหายไปนานกว่า 10 ปี มีโอกาสไปเรียนเรื่อง Game AI และการออกแบบเกมเพื่องานวิจัยเมื่อตอนไปเรียน communication and information sciences ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนกลับมาทำงานด้าน communication specialist แนวเกมที่ชอบที่สุดคือเกมสร้างเมือง

Back to top