BY KKMTC
11 Feb 19 6:38 pm

ไขปริศนา ทำไมวิดีโอเกมชอบใช้รัสเซียเป็นตัวร้าย

17 Views

ถ้าหากผู้เล่นเคยเล่นเกม Call of Duty: Modern Warfare 2 มาก่อน เกมเมอร์จะสามารถจดจำวีรกรรมตัวร้าย Vladimir Makarov จากการสังหารหมู่ในสนามบิน Zakhaev International Airport แล้วโยนแพะให้กับฝ่ายสหรัฐฯ จนกลายเป็นตัวก่อฉนวนสงคราม WW III  ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เนื้อเรื่องวิดีโอเกมใช้คนรัสเซียเป็นตัวร้ายในวิดีโอเกม แต่ยังมีอีกหลายเกมที่ใช้ชาวรัสเซียเป็นตัวร้ายจนเกมเมอร์หลายคนนึกว่าสหรัฐฯ มีความแค้นสะสมอะไรกับรัสเซียหรือเปล่า?

เพราะอะไร ทำไมรัสเซียมักต้องตกเป็นผู้ไม่หวังดีในวิดีโอเกม? ทำไมคนร้ายต้องเป็นเชื้อสายรัสเซีย? นี่คือบทความไขปริศนาว่า ทำไมวิดีโอเกมชอบใช้รัสเซียเป็นตัวร้าย

จุดเริ่มต้นมาจากสงครามเย็น

ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นมาจากประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น (WWII) เป็นความขัดแย้งทางด้านอุดมคติและรูปแบบการปกครองระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรโดยประเทศสหรัฐฯ กับฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยสหภาพโซเวียต ซึ่งสงครามเย็นจะไม่เหมือนกับ WWII ที่ใช้กองทัพของแต่ละประเทศมาปะทะกันแบบตัวต่อตัว แต่จะเป็นการจารกรรมข้อมูล, สายลับ, ความภักดี, สงครามตัวแทน, การแข่งขันทางอวกาศ, หรือโปรยโฆษณาชวนเชื่อเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของฝ่ายตนเองและทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามซึ่งกันและกัน

ตลอดที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐฯ มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ไม่มีประเทศไหนสามารถต่อสู้ได้ ทำให้นับตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมามีภาพยนตร์ฮอลลีวูดในช่วงสงครามเย็นหลายเรื่องชอบใช้ฝ่าย “โซเวียต” เป็นตัวละครฝ่ายขัดแย้ง (Antagonist) หรือ “ตัวร้าย” และให้ชาวอเมริกันเป็นพระเอกฮีโร่ (Protagonist) ไปโดยปริยาย

007 From Russia with Love

007 From Russia with Love

ต้องบอกก่อนว่าวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดในอดีต ไม่ได้มีแค่ฝั่งโซเวียตหรือรัสเซียอย่างเดียวที่เป็นตัวร้าย แต่ทุกประเทศที่มีความขัดแย้งกับประเทศสหรัฐฯ หรือทั่วโลกล้วนเป็นตัวร้ายในสายตาผู้ทำภาพยนตร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง มหาจักรวรรดิญี่ปุ่น หรือ นาซีเยอรมัน ในช่วง WWII หรือแม้กระทั่งฝ่ายชนเผ่า อินเดียนแดง ในช่วงที่ประเทศอเมริกากำลังเกิดใหม่ ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าไหร่นักที่ประเทศสหรัฐฯ จะยกนำคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียต, เกาหลีเหนือ, เวียตนามเหนือ และคิวบา มารับบทเป็นศัตรูเพื่อใช้ทำภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงหรือโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเฝ้าระวัง

แต่ถึงแม้ว่าโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วในปี 1992 จนกลายเป็นประเทศรัสเซีย แต่น่าเสียดายที่ประเทศสหรัฐฯ ยังคงใช้รัสเซียเป็นตัวร้ายในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะกลายเป็น Stereotype ที่วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดไว้ใช้หากินมานานหรือสร้างสรรค์ผลงานมาตลอดเกือบ 40 ปีจนหลายคนติดตา และกลายเป็นทฤษฎีจนลงตำราหนังสือเรียนภาพยนตร์ 101 ไปแล้ว (อารมณ์ประมาณว่าคนอังกฤษดื่มน้ำชาทุกวัน, คนรัสเซียต้องดื่มวอดก้าแทนน้ำเปล่า)

โดยศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัย Leicester คุณ James Chapman กล่าวว่า ถึงแม้กำแพงเบอร์ลินกับคอมมิวนิสต์จะพังทลายไปแล้ว แต่ภาพลักษณ์ตัวร้ายของประเทศรัสเซียยังคงเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้สร้างหนังจนถึงทุกวันนี้

“แม้ว่าจะผ่านช่วงสงครามเย็นมาแล้ว แต่ประเทศรัสเซียยังคงเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ด้านภัยคุกคามทางการเมืองต่อฝั่งตะวันตก แต่บ่อยครั้งที่ตัวร้าย (Stereotype) ดังกล่าวจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุดมการณ์โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ไม่ใช่แค่รัสเซียเท่านั้น แต่รวมไปถึงฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตอีกด้วย

คุณไม่สามารถเปิดทีวีและไปดูภาพยนตร์ โดยไม่คิดว่าคนรัสเซียเป็นคนที่น่ากลัวมาก

James Chapman

– James Chapman”

นอกเหนือจากนี้ หากผู้อ่านเป็นคนติดตามข่าวสารต่างประเทศเป็นประจำ ผู้เล่นจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทุกวันนี้เรื่องราวเกมการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับประเทศรัสเซียยังคงทวีความดุเดือดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศยูเครน (สนับสนุนโดยสหรัฐฯ) กับประเทศรัสเซียจนกลายเป็นสงครามขนาดเล็ก (สงคราม Donbass) ที่ปัจจุบันยังหาผลลัพธ์ข้อสรุปไม่ได้ ทำให้รัสเซียยังคงมองเป็นคาแรกเตอร์ตัวร้ายสำหรับวงการฮอลลีวูดที่แข็งแรงไม่เลือนหายไปไหน

Russia USA

 

ทำไม Stereotype รัสเซียเป็นตัวร้ายได้ลามมาถึงวงการวิดีโอเกม?

ทำไมวิดีโอเกมชอบใช้รัสเซียเป็นตัวร้าย ?คำตอบง่ายมาก เพราะเกม Singleplayer เริ่มให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น ทำให้ทฤษฎีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเริ่มมีอิทธิพล และสามารถนำมาผสมผสานใช้กับสื่อประเภทวิดีโอเกมได้

ซึ่งก็แน่นอนว่า ผลลัพธ์ออกมายอดเยี่ยม เกม Call of Duty 4: Modern Warfare ถือเป็นเกมที่สร้างกระแสจากการนำเสนอเนื้อเรื่องเป็นธีมสงครามสมัยใหม่ โดยมีตัวละครร้ายเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่าง Al-Asad และ Imran Zakhaev ผู้นำทหารกลุ่ม Ultranationalists ของประเทศรัสเซียที่หวังว่าจะทำประเทศรัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนกับยุคสมัยสหภาพโซเวียต ซึ่งด้วยการนำเสนอเนื้อเรื่องที่ลุ้นระทึก น่าติดตาม และหักมุมตามสไตล์หนังฮอลลีวูด ทำให้เกมดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับที่ยอดเยี่ยม และทำให้ Stereotype รัสเซียเป็นตัวร้าย เริ่มเป็นนิยมในสื่อวิดีโอเกม โดยเฉพาะนำมาใช้กับเกมประเภท First Person Shooter หลายเกมตามมา

Call of Duty 4: Modern Warfare

Imran Zakhaev

นอกจากธีมสงครามแล้ว ก็สามารถนำมาใช้กับเกมสำหรับธีมเนื้อหาอาชญากรรมใต้ดินเช่นกัน อย่างเช่น Grand Theft Auto IV ที่ตัวร้ายหลักของเกมนี้เป็นชาวรัสเซียชื่อว่า Dimitri Rascalov เป็นรองหัวหน้าแก๊งมาเฟียที่หลอกใช้ให้ Niko Bellic สังหารเพื่อนร่วมสาบานของเขา Mikhail Faustin เพื่อเทคโอเวอร์ตำแหน่งเป็นหัวหน้าแก๊ง แล้วทรยศ Niko ในภายหลัง (รวมถึง Ray Bulgarin ที่เป็นตัวร้ายหลักของ GTA The Ballad of Gay Tony อีกด้วย)

Grand Theft Auto IV

Dimitri Rascalov

แต่ในปัจจุบัน บทบาทของประเทศรัสเซียได้ลดลงและเปลี่ยนตัวร้ายเพื่อลดความซ้ำซากจำเจของเนื้อหา อย่างเช่นเกม Homefront ที่ได้นำเสนอตัวร้ายเป็นทหารฝั่งเกาหลีเหนือที่สามารถยึดครองประเทศสหรัฐฯ ได้สำเร็จ หรือเกม Battlefield 4 ที่นำเสนอความขัดแย้งจนเกิดสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ รัสเซีย และสหรัฐฯ

ซึ่งการคาดการณ์ก็ไม่ผิดเพี้ยน การนำเสนอประเทศเกาหลีเหนือกับประเทศจีนเป็นตัวร้ายได้ส่งผลกระทบต่อวงการเกมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเกมที่ชัดเจนที่สุดคือ Battlefield 4 โดนประเทศแบนและลบออกจากร้านค้าแบบเด็ดขาดในประเทศจีน หลังจาก DICE เผยเนื้อหา DLC ตัวใหม่นามว่า China Rising เพราะแผนที่ในเกมประกอบไปด้วยแผนที่ประเทศจีน โดยอ้างว่าอาจจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้

Battlefield 4

ปัจจุบัน นิยามตัวร้ายให้เป็นคนเชื้อสายรัสเซียยังคงเป็นที่นิยมในวงการสื่อบันเทิงทุกรูปแบบโดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด แต่หากเทียบกับอดีตแล้ว ก็ถือว่ามีปริมาณลดลงอย่างชัดเจน เพราะทีมงานผู้สร้างสื่อและผู้ชมเริ่มเอือมกับ Stereotype รัสเซียแล้ว

ทำให้ตอนนี้ประเทศจีน, เกาหลีเหนือ และกลุ่มผู้ก่อการร้ายในแทบตะวันออกกลาง กลายเป็นเหยื่อตัวร้ายสำหรับสื่อฮอลลีวูดและวิดีโอเกมโดยมีรัสเซียรับบทเป็นตัวร้ายสำรองหรือเป็นพันธมิตรต่อผู้เล่นนั้นเองครับ

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top