BY Prab Laoharojanaphan
29 Sep 18 11:53 am

เล่นเกมแล้วฉลาดขึ้น?: เปิดงานวิจัยการใช้สมองของคนเล่นเกม Portal 2

42 Views

คุยกันด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ว่ากันด้วยเหตุผล กับงานวิจัยในหัวข้อที่หลายคนสงสัยและถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน เล่นเกมแล้วฉลาดขึ้นจริงหรือไม่?

ในปี 2015  Valerie J. Shute, Matthew Ventura และ Fengfeng Ke นักวิจัยด้านการศึกษาจาก Florida State University ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ชื่อว่า “The power of play: The effects of Portal 2 and Lumosity on cognitive and noncognitive skills (พลังแห่งการเล่น: ผลของเกม Portal 2 และ Lumosity ต่อทักษะทางความคิดและพฤติกรรม)” ลงในวารสารวิชาการ Computer & Education ซึ่งความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการเปรียบเทียบการใช้ทักษะทางความคิดและพฤติกรรมระหว่างผู้เล่นเกมตลาดทั่ว ๆ ไปแต่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้สมองอย่าง Portal 2 กับผู้เล่นเกม Lumosity  เกมฝึกสมองหรือแอฟลิเคชั่นบริหารสมองที่โปรโมทผลิตภัณฑ์ของตนว่าถูกออกแบบโดยความร่วมมือของนักประสาทวิทยา (neurologist) จากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 85 ล้านคนจาก 185 ประเทศ (อ่านข้อมูลของเกม Lumosity เพิ่มเติมได้ที่: https://www.lumosity.com/ )

https://www.youtube.com/watch?v=JZD17pQSqUU

เกม Portal 2 จากค่าย Valve วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2011

เพื่อพิสูจน์ว่าการเล่นเกม Portal 2 กับเกมฝึกสมอง Lumosity ส่งผลการใช้สมองต่างกันหรือไม่ นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาอาสาสมัครอายุระหว่าง 18 – 22 ปี จำนวน 77 คนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง (42 คน) เล่นเกม Portal 2 และอีกกลุ่ม (35 คน) เล่นเกม Lumosity โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มจะมีเวลาเล่นเกมทั้งหมด 8 ชั่วโมงใน 1-2 สัปดาห์ (เล่นครั้งแรก 2 ชั่วโมง และครั้งที่ 2-3 อีกครั้งละ 3 ชั่วโมง) และเล่นได้เฉพาะในห้องทดลองเท่านั้น (ห้ามไปเล่นต่อที่บ้าน) พร้อมกับห้ามพูดคุยหรือส่งเสียงใดๆตลอดการเล่น ในการทดลองนี้ผู้เล่นจะต้องทำแบบทดสอบสองครั้ง ครั้งแรกคือก่อนการเล่นเกม (pre-test) และครั้งที่สองคือหลังจากเล่นเกมไปแล้วทั้งหมด 8 ชั่วโมง (post-test) ซึ่งแบบทัดสอบจะวัดผลทักษะทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่:

  1. ทักษะด้านการแก้ปัญหา (problem solving skills) หมายถึงการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รู้อยู่เดิม การวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหาใหม่ ความสามารถในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนความยืดหยุ่นในการใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมด้วยวิธีใหม่ๆ
  2. ทักษะด้านมิติสัมพันธ์ (spatial skills) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และเปรียบเทียบตำแหน่งของสิ่งของกับพื้นที่ เช่น การเข้าใจรูปร่างสูง-ต่ำ ความใกล้-ไกล หรือการเปรียบเทียบใดๆที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งของกับพื่นที่นั้นๆ
  3. ความไม่ลดละพยายาม (persistence) ซึ่งเป็นทักษะทางพฤติกรรม (noncognitive skill, แตกต่างจากสองทักษะข้างต้นที่เป็นทักษะทางความคิดหรือ cognitive skill) แต่เป็นคุณลักษณะสำคัญในการแก้ปัญหาใดๆให้สำเร็จ

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าสนใจทีเดียว ปรากฎว่ากลุ่มผู้เล่น Portal 2 สามารถทำคะแนนทักษะทั้ง 3 ด้าน(การแก้ปัญหา,มิติสัมพันธ์ และ ความไม่ลดละพยายาม) ได้ดีกว่าผู้เล่นเกม Lumosity เสียอีก ทั้ง ๆ ที่เกม Lumosity ถูกออกแบบโดยนักประสาทวิทยา แต่เฉลี่ยของผลการประเมินทักษะทั้ง 3 ด้านของผู้เล่นเกม Portal 2 กลับมากกว่าเกม Lumosity อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (statistically significant) นอกจากนี้ ทักษะด้านมิติสัมพันธ์ (spatial skiils) ของผู้เล่นเกม Portal 2 ก็เพิ่มขึ้นหลังจากเล่นเกมไป 8 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้เล่นเกม Lumosity กลับไม่พบการพัฒนาในทักษะด้านมิติสัมพันธ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างก่อนและหลังการเล่น (pre-test – post-test) นักวิจัยพบว่าในทางทักษะการแก้ปัญหา (problem solving skills) ของผู้เล่นทั้งสองเกมกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากผลลัพธ์การวิจัยจึงสามารถสรุปได้ว่า:

  1. คนเล่นเกม Portal 2 สามารถทำแบบทดสอบทักษะด้านสมองได้สูงกว่าคนเล่นเกมฝึกสมอง Lumosity
  2. การเล่นเกม Portal 2 ช่วยพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ (spatial skills) แต่ไม่ช่วยพัฒนาทักษะด้านการแก้ปัญหา (problem-solving skills) แต่อย่างใด
  3. ไม่พบการพัฒนาทักษะใดๆของกลุ่มผู้เล่นเกมฝึกสมอง Lumosity จากการเปรียบเทียบแบบทดสอบก่อนและหลังการเล่น

จากการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยจึงเสนอว่า “การเล่นวีดิโอเกมสามารถพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ (spartial skills) ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องในชีวิตจริง อาทิ การนำทาง การขับรถ ตลอดจนอาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านมิติสัมพันธ์อย่างสูง เช่น นักการทหาร หรือนักบิน”  และนักวิจัยที่สนใจต่อยอดจากงานวิจัยชิ้นนี้ ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ว่า เราจะใช้การเล่นวีดิโอเกมที่เป็นภาพสามมิติ (ซึ่งใช้ทักษะด้านมิติสัมพันธ์มากกว่าเกมแบบสองมิติอย่างแน่นอน) มาพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านมิติสัมพันธ์ได้อย่างไร หรือสามารถทำการทดลองแบบนี้ซ้ำอีกครั้ง ด้วยกลุ่มประชากรที่ใหญ่ขึ้น มีความหลากหลายของกลุ่มประชากรที่มากขึ้น เพื่อศึกษาถึงผลลัพธ์ที่ละเอียดชัดเจนขึ้นต่อไปในอนาคต

การเล่นวีดิโอเกมสามารถพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ (spartial skills) ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องในชีวิตจริง

สำหรับผู้ที่สนใจงานวิจัยฉบับจริง สามารถซื้ออ่านได้ที่: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0360131514001869

แล้วเกมทั่วไปที่เราเล่นๆกันจะส่งผลต่อทักษะด้านสมองของเราอย่างไรได้อีกบ้าง?

การเล่นเกม RTS จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ (management skills) ได้หรือไม่?

แล้วการเล่นเกม sandbox จะช่วยพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ (creativity) ได้หรือไม่?

ความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นเกมกับพัฒนาการทางสมองยังต้องการงานวิจัยอีกเยอะเลยทีเดียว

Prab Laoharojanaphan

ปราบ - อดีตคอลัมนิสต์เกมที่ห่างหายไปนานกว่า 10 ปี มีโอกาสไปเรียนเรื่อง Game AI และการออกแบบเกมเพื่องานวิจัยเมื่อตอนไปเรียน communication and information sciences ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนกลับมาทำงานด้าน communication specialist แนวเกมที่ชอบที่สุดคือเกมสร้างเมือง

Back to top