BY SEPTH
24 Mar 18 11:17 pm

สำรวจรักยุคโซเชียลไปกับ Florence

2 Views

บางครั้งการจะรักใครสักคนคงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลมากมาย เหมือนกับเกมนี้ที่ไซส์เล็ก แต่เปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึก

Florence Yeoh สาวน้อยวัย 25 ที่ต้องวนลูปอยู่กับชีวิตเดิมๆ เธอกดปุ่ม snooze เพื่อไม่อยากตื่นมาเจอโลกความจริง ที่ต้องทำงานออฟฟิศซังกะตาย ใช้เวลาไปกับการส่องโซเชียลมีเดีย และคอยแบกรับความกดดันจากแม่ที่ถามไถ่เรื่องแฟน ทุกคืนเธอใช้เวลาไปกับ sushi ที่ซื้อกลับมากินหน้าทีวี จนกระทั่งวันหนึ่ง ชีวิตเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อได้เจอกับหนุ่มนามว่า Krish

ดูเผินๆ นี่อาจฟังดูไม่ต่างจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ทั่วไปที่หาฟังได้จากเพื่อนฝูง กระทู้ในอินเทอร์เน็ต หรือในภาพยนตร์เท่าใดนัก รูปแบบการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้เอื้อให้หนุ่มสาวหันมาใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสังคมเมืองที่ยากที่จะทำให้คุณหันมาปฏิสัมพันธ์ หลายคนหันมายอมรับสภาพความเป็น Introvert กันมากขึ้น

มุมมองชีวิตสาวโสดตัวคนเดียวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเคยถูกเล่ามาแล้วใน The Bridget Jones Diary (2001)

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ Florence ผลงานล่าสุด จาก Annapurna Interactive ค่ายลูกบริษัทผลิตหนังในชื่อเดียวกันที่เคยคว้ารางวัยออสการ์มาแล้ว ร่วมมือกับ Mountains ที่เคยฝากผลงานอย่าง Monument Valley โดยมี Ken Wong นำหน้าที่ Lead Designer ของเกม

ผมมักจะคุยเรื่องความรักและความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และครอบครัวอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เราเฉลิมฉลองเรื่องราวเหล่านี้ผ่านหนังสือและบทเพลง และเกมก็ดูเหมือนว่าจะมีจุดบอดทั้งด้านอารมณ์และจิตใจในพื้นที่เหล่านี้อยู่

  • Ken Wong

 

Florence ออกวางจำหน่ายเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาในราคา 2.99$ หรือราวๆ 99 บาทไทยบน iOS และ Google Play ถ้าจะมองให้เป็นเกมอาจไม่ถึงกับใช่ แต่ถ้ามองให้เห็น Graphic Novel ก็คงจะไม่เชิง เพราะเกมนี้คือส่วนผสมของการเล่าเรื่อง ที่ เล่นได้  เพราะเกมนี้มีรูปแบบที่เรียบง่าย แต่ใช้ลูกเล่นของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการจิ้ม ปาด หรือจับคู่ แม้รูปแบบดังกล่าวจะดูตกยุคหล่นสมัย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไป เพราะจุดประสงค์หลักไม่ใช่การโชว์ลูกเล่น แต่คือการถ่ายทอดสำนึกคิดของหนุ่มสาวสมัยนี้ ผ่านไลฟ์สไตล์ทั่วไปที่เรียบเชียบ และดาษดื่น แต่แฝงไปด้วยความหมายยอย่างคาดไม่ถึง

สิ่งที่ผู้เล่นต้องทำในเกมนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการกดนาฬิกาปลุก ขยับแปรงฟัน จับคู่ตัวเลข และกัดกินอาหาร เป็น puzzle ง่ายๆ แต่อาจอนุมานได้ถึงกิจวัตรประจำวันของเราที่ซ้ำซาก จำเจ เรากดปุ่ม snooze เพราะรู้ว่าวันนี้มันจะไม่ได้พิเศษไปกว่าวันก่อนๆ งานที่เราทำไปสักพักจนชินก็มีความอยู่ตัวไม่ต่างจากเกมจับคู่ แล้วอะไรกันที่ทำให้เราหลุดไปจากจุดเหล่านี้ หากเราไม่ได้เริ่มด้วยตนเองก็ต้องมีคนเริ่มมมัน และคนๆ นั้น คือคนอีกคน คนที่ก้าวเข้ามาในชีวิต คนที่เข้ามาในฐานะของ…ความรัก

บางทีชีวิตเราก็อาจไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ใช้เวลากิจวัตรประจำวันร่วมกับใครสักคน

เทียบกันแล้วก็ไม่ต่างจากภาพยนตร์รักที่หลายคนซึ้งและเศร้า เรามักอาศัยความรักเป็นสิ่งกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ให้ความรักขับเคลื่อนเราออกจากพื้นที่ปลอดภัย (safezone) ให้ความรักพาเราออกไปจากสิ่งเดิมๆ ที่มี เพราะเราเปราะบางและอ่อนแอเกินกว่าจะลุกขึ้นมาปฏิวัติด้วยตนเอง เราเลือกที่จะรับในสิ่งที่ถูกยิบยื่น เลือกที่จะเสพ แทนที่จะผลิต นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์เรา ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่อันใด บางครั้งเราก็แค่อยากใช้ชีวิตให้มีความสุขไปวันๆ ดูหนังเรื่องโปรด ฟังเพลงที่ชอบ เล่นเกมที่ใช่ บางครั้งชีวิตก็ต้องการแค่นั้น

แต่ความรักทำให้เราเปลี่ยน ความรักทำให้เราเชื่อว่าอะไรๆ มันดีกว่านี้ได้ การมาเยือนของ Kris หนุ่มนักดนตรีเปลี่ยนชีวิตของ Florence ไปโดยสิ้นเชิง เธอได้รู้จักการเดท ได้เรียนรู้การทำความเข้าใจ ได้เรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อกันและกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งในความทรงจำของกันและกัน

500 Days of Summer คือภาพยนตร์อีกเรื่องที่หักล้างมุมมองความรักของคนสมัยเก่ามาสู่สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

น่าสนใจที่ตัวเกมเลือกที่จะใช้พื้นเพของ Florence เป็นคนจีน และ Kriss เป็นอินเดีย (หรืออาจเป็นประเทศอื่นไม่อาจทราบได้ และไม่มีเจตนาเหมารวมแต่อย่างใด) คนทั้งคู่อาศัยอยู่ในประเทศที่คาดว่าเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นเท่ากับว่าเวลาชีวิตของคนทั้งคู่แทบจะหมดไปกับการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่จะอยู่ในเมืองที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดตน การเรียนรู้พื้นเพบ้านเกิด และการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความต่างของวัฒนธรรม ด้วยข้อจำกัดของตัวเกม ทำให้เราไม่ได้เห็นประเด็นนี้ชัดเท่าที่ควรนัก แต่ก็อาจนับได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างของเรื่องก็เป็นได้

Florence อาจเป็นแค่ชื่อทั่วไป แต่หากมาดูอีกความหมาย ชื่อนี้ยังเป็นชื่อเดียวกับเมืองในประเทศอิตาลี เมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องความโรแมนติก

ในนิยาย Blu & Rosse (เยือกเย็น & ร้อนแรง) ผลงานร่วมของ Ekuni Kaori และ  Hitonari Tsuji ที่ได้รับการสร้างเป็นหนังชื่อ Between Calmness and Passion (Reisei to Jonetsu no Aida) นิยายเรื่องนี้พระนางที่เลิกรากันไปมีสัญญาต่อกัน ว่าในปีที่มีอายุครบ 30 ทั้งคู่จะขึ้นมาดู Duomo ด้วยกันที่เมือง Florence ไม่ว่าทั้งคู่จะเลิกรากันไปกี่ปี แต่คำสัญญานี้ยังคงติดค้างคาไปตลอดจนกว่าจะได้พบกัน สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเหมือนความหวัง ที่จะเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Between Calmness and Passion (2001)

ไม่ว่าปลายทางของความรักจะเป็นอย่างไร สุขสมหรือผิดหวัง หวานชื่นหรือข่มขื่น แต่การได้รักใครสักคนย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตัวเราอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top