BY Rackchart Wong-arthichart
4 Dec 18 11:41 am

รู้จัก Article11 และ 13 คำสั่งลิขสิทธิ์ของ EU ที่จะสั่นสะเทือนโลกอินเทอร์เน็ตและวงการเกม

29 Views

สภาของสหภาพยุโรปได้ทำการโหวตผ่านร่างคำสั่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่จะทำให้อินเตอร์เน็ตยุคโซเชี่ยลมีเดียเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ร่างคำสั่งฉบับนี้ชื่อว่า Directive on Copyright ซึ่งจะทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะมันจะทำให้ภาระด้านลิขสิทธิ์ตกไปอยู่ที่เว็ปไซต์ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางของข้อมูลเช่นพวก Facebook, Youtube, Twitter โดยเฉพาะในบทบัญญัติมาตรา 11 (Article 11) ที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘Link Tax’ และ Article 13 ที่ถูกเรียกว่า ‘Meme ban’ ซึ่งจะทำให้การนำภาพ วิดิโอ เพลง หรือสื่ออื่นใดที่มีลิขสิทธิ์มาแชร์​หรือดัดแปลง ลงบนช่องทางตัวเอง ไม่สามารถทำได้ หรือแม้กระทั่งการแชร์บทความข่าวก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของข่าวนั้น ๆ ด้วย

คำสั่งเรื่องลิขสิทธิ์นี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกอินเตอร์เน็ตแน่ ๆ ถ้าหากว่ามันถูกบังคับใช้จริง แต่ตอนนี้มันยังไม่เป็นกฎหมายเต็มตัว เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนถึงจะบังคับใช้ได้ วันนี้เราจะสรุปให้ฟังว่า คำสั่งฉบับนี้จริง ๆ แล้วมีรายละเอียดอย่างไร มีข้อสนับสนุนและข้อถกเถียงอย่างไร และจะกระทบกับวงการเกมอย่างไรบ้าง

Directive on Copyright คืออะไร ?

มันคือร่างคำสั่งที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการแชร์ของคอนเทนต์ที่มีลิขสิทธิ์ในเครือข่ายออนไลน์ EU Directive เป็นรูปแบบหนึ่งของคำสั่งที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องทำตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เพราะฉะนั้นถ้า Directive on Copyright นี้ผ่านล่ะก็ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องออกกฎหมายของประเทศตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของ EU นี้ด้วยเช่นกัน

Directive on Copyright จะทำให้เว็ปไซต์ผู้เป็นตัวกลางในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร มีภาระรับผิดชอบในการจำกัดเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และก็จะต้องให้ค่าตอบแทนแก่ศิลปินหรือนักข่าวเจ้าของผลงานด้วย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ โดยปกติ Youtube จะลบวิดิโอก็ต่อเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของผลงานนั้น ๆ ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ Youtube ไม่ได้มีความผิดโดยตรงกับการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ร่างคำสั่งฉบับนี้ มองว่ามันเป็นภาระรับผิดชอบโดยตรงของ Youtube ที่จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของผลงานทุกคน หรือไม่ก็ต้องมีการจำกัดเนื้อหาไม่ให้มีการละเมิดเลย

Directive on Copyright นั้นประกอบไปด้วยกฎหมายทั้งหมด 17 มาตรา แต่ที่สำคัญและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือมาตรา 13 และมาตรา 11

มาตรา 13 และมาตรา 11 คืออะไร ?

Article 13 ถูกเรียกว่า ‘Meme ban’ เป็นมาตราที่คนกังวลกันมากที่สุด เพราะมันกำหนดให้เว็ปไซต์ที่ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์จะต้องป้องกันการไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ์เกิดขึ้นบนเว็ปไซต์ของตนเอง

นั่นหมายความว่าเว็ปไซต์อย่าง Youtube, Facebook, Twitter หรือเว็ปไซต์ขนาดใหญ่อื่น ๆ จะต้องคอยลบเนื้อหาที่คาดว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์ออกทั้งหมด แล้วเว็ปไซต์เหล่านี้จะทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยการใช้ระบบตัวกรองอัตโนมัติที่คอยดักเนื้อหาที่คาดว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้หมดนั่นเอง และนั่นเป็นที่มาที่คนเรียกมันว่า Meme ban เพราะมีม โดยพื้นฐานแล้วเกิดจากการใช้รูปหรือเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงให้เป็นเรื่องตลกขบขันเชิงล้อเลียน ซึ่งนี่ก็จะตกอยู่ภายใต้คำสั่งนี้ด้วย แม้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติของสภาฯ จะบอกว่าการล้อเลียนนั้นไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ ตัวกรองที่เว็ปต่าง ๆ เลือกใช้จะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าอย่างไหนเป็นการล้อเลียนล่ะ?

Article 11 หรือมาตรา 11 ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน มันถูกเรียกว่า ‘Link tax’ เพราะมันกำหนดให้เว็ปไซต์ที่ให้บริการหน้าข่าวต่าง ๆ เช่น google news, flip board, ฯลฯ จ่ายเงินให้กับข่าวหรือบทความต้นทางที่เว็ปไซต์ดังกล่าวนำมาแปะไว้ แต่ปัญหาคือความคลุมเครือของคำสั่งนี้ทำให้ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า เว็ปไซต์หนึ่งจะต้องแชร์บทความหรือข่าวเป็นจำนวนขนาดไหนถึงจะต้องจ่ายให้กับเจ้าของผลงานต้นทาง ในคำส่งมาตรานี้ยังให้การยกเว้นแก่ปัจเจกบุคคลที่แชร์ลิ้งค์ลงในโซเชี่ยลมีเดียของตัวเองด้วยว่าสามารถทำได้ แต่คำถามคือ ถ้าคน ๆ นั้นเป็นเน็ตไอดอล หรือผู้ที่มีคนติดตามเยอะล่ะ การแชร์ลิ้งค์จะเข้าข่ายด้วยหรือไม่ ?

นอกจากมาตราสองตัวในคำสั่งนี้แล้ว ยังมีมาตรา 12a ที่ห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการผู้จัดการแข่งขันกีฬาโพสต์รูปหรือวิดิโอของการแข่งขัน นี่ก็จะทำให้การโพสต์ gif รูป หรือวิดิโอของการแข่งขันที่ตัวเองไปดูลงโซเชี่ยลมีเดียได้ด้วย

ทรรศนะบวกและลบ: คำสั่งนี้มีไว้เพื่อใคร แล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงการเกม ?

ร่างคำสั่งฉบับนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งด้านลบและด้านบวก ผู้ที่สนับสนุนร่างคำสั่งฉบับนี้ก็คืออุตสาหกรรมของผู้ผลิตคอนเทนต์ต้นฉบับอย่างพวกสมาคมนักเขียน สมาพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษ บริษัทสื่อและเพลงอย่าง Universal และ Warner Music Group ก็ร่วมสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งต่อต้านร่างคำสั่งนี้ ก็คือลอบบี้ยิสต์ของ Silicon Valley และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, eBay, Amazon, Netflix, และหลังจากที่ร่างผ่านไม่นาน เจ้าของวิกิพีเดียก็ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์ร่างดังกล่าวด้วย แม้ว่าในร่างกฎหมายจะให้การยกเว้นต่อ Wikipedia และ GitHub ก็ตาม

เมื่อปลายเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา CEO ของ Youtube ก็ได้ออกมาโพสต์ในบล็อกของตัวเองเพื่อวิจารณ์มาตรา 13 นี้ โดยบอกว่า มาตรา 13 จะเป็นการปิดกั้นความสามารถของคนหลายล้านคน ปิดกั้นนักสร้างสรรค์ไปจนถึงผู้ใช้งานทั่วไปในการอัปโหลดคนเทนต์ของตัวเองลงยูทูป รวมทั้งจะทำให้อีกหลายร้อยคนตกงาน เธอยังได้ทิ้งท้ายข้อความเพื่อจุดกระแสการต่อต้านนี้ผ่านแฮชแท็ก #SaveYourInternet

แน่นอนว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวงการเกมโดยตรงอย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การแคสเกม จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป เพราะการแคสเกมก็คือการอัดคลิปเล่นเกมอีกทีนึงนั่นเอง ซึ่งขัดต่อคำสั่งตัวใหม่นี้แน่ ๆ รวมไปถึงการนำภาพในตัวเกมออกมาทำเป็น meme หรือกระทั่งอวดทั่ว ๆ ไป ก็อาจจะทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสั่นสะเทือนวงการเกมอย่างมาก เพราะการแคสเกมผ่าน Youtube หรือ Twitch เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงการเกมไปแล้ว

อนาคตของคำสั่งฉบับนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ?

หลังจากที่ร่างคำสั่งฉบับนี้ผ่านเข้ามาสู่การพิจารณาในสภายุโรปแล้วนั้น มันก็จะต้องผ่านการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างคณะกรรมการยุโรป สภา และรัฐสภา ซึ่งสามองค์กรนี้จะทำหน้าที่ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำเสนอไปยังคณะกรรมการด้านกฎหมายของสหภาพยุโรป ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงเดือนนี้ (ธันวาคม) และในเดือนมกราคม ร่างคำสั่งฯ ก็จะถูกส่งกลับมายังรัฐสภายุโรปเพื่อให้ทำการโหวต ซึ่งมันจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเพียงไม่นาน และผู้แทนฯ ต่าง ๆ ก็จะให้ความสนใจกับร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะมันจะส่งผลต่อคะแนนเสียงของพวกเขาด้วย

และถ้าหากว่าร่างฯ นี้ผ่าน ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปก็จะมีเวลา 2 ปี ในการผ่านกฎหมายที่สอดคล้องกับคำสั่งฉบับนี้ ซึ่งคงอีกยาวนานพอสมควรทีเดียวก่อนที่ร่างคำสั่งจะสามารถออกมา และต้องดูกันอีกยาวนานว่าคำสั่งนี้จะใช้ได้จริงหรือปล่าวด้วย ในขณะที่หลายคนออกมาต่อต้านคำสั่งนี้อย่างแข็งขัน ก็มีโอกาสมากเหมือนกันที่มันจะไม่ผ่านเสียด้วยซ้ำ

SHARE

Rackchart Wong-arthichart

นักเขียน/นักแปลอิสระ ชอบเล่นเกมแนว strategy, simulator, stealth และเกมฟุตบอล เกมที่เล่นประจำคือ FIFA, Batman, XCOM

Back to top