BY BabeElena
9 Feb 19 12:11 pm

ทำไม Epic Games Store ถึงยังไม่ใช่แพลตฟอร์มที่หลายคนไว้วางใจ (ในตอนนี้)

123 Views

เป็นกระแสดราม่ากันพักใหญ่และดุเดือดเผ็ดมันเป็นอย่างมากจริง ๆ สำหรับกรณีของ Epic Games Store ที่สร้างความบาดหมางและความโกรธให้กับเหล่าเกมเมอร์ ทีมพัฒนาและตัวแทนจำหน่ายไม่มากก็น้อย กลายเป็นหนึ่งใน Talk of the Town ของวงการเกมในช่วงนี้เลยก็ได้ จากกรณีที่ทาง Epic ได้ยื่นข้อเสนอให้ Metro: Exodus วางจำหน่ายในร้านค้าของตนเองแบบ Exclusive เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อให้เกิดกระแสดราม่าสุดยิ่งใหญ่ของต้นปีแห่งวงการเกมที่กลายเป็นสงครามระหว่างเกมเมอร์กับนักพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย และเป็นสงครามระหว่างเกมเมอร์สายรักษาสิทธิ์ผู้บริโภคและเกมเมอร์สายเห็นใจผู้ผลิตอีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นสงครามเดียวที่ทำให้เราได้เห็นแง่มุมและคนหลายกลุ่มออกมาถกเถียงว่าเจ้า Epic Games Store นี่มันดีมันไม่ดียังไง ก่อให้เกิดผลดีต่อนักพัฒนา วงการเกม และการแข่งขันจริงไหม หรือจะเป็นการผูกขาดจริงไหม ซึ่งถึงแม้ทางร้านค้าจะให้ข้อเสนอที่ดีโคตร ๆ ให้กับนักพัฒนามากเพียงใด แต่ในมุมมองของผู้บริโภคกลับมองว่าอาจจะไม่เวิร์คหรือเวิร์คก็แล้วแต่มุมมองแต่ละคนอีก บางคนก็มองว่าแค่นี้ไม่เห็นต้องดราม่าเลยไร้สาระ บางคนก็มองว่าเอ้ยนี่มันคือการผูกขาดนี่หว่า บางคนก็เฉย ๆ บางคนก็โวยวายถึงขั้นขู่โหลดเถื่อน บางคนก็เอ่อ… เอาง่าย ๆ Statements ที่เราเห็นในดราม่าครั้งนี้มีให้เห็นเยอะมาก ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามุมมองของแต่ละคนจะเป็นแบบไหน

โดยวันนี้ทาง GamingDose จะขอหยิบนำข้อมูลและบทสนทนาที่ผู้บริโภคถกเถียงในแง่ของความไว้วางใจต่อตัวร้านค้า ซึ่งหากคุณได้ลองไปอ่านที่พวกเขาคุยกันตามเพจไทยและเพจเทศ คุณจะเห็นได้ชัดว่าหลาย ๆ คนยังไม่ไว้วางใจทาง Epic Games เสียเท่าไหร่ แต่พวกเขาจะไม่ไว้ใจด้วยเพราะเหตุผลอะไรล่ะก็ ทางผู้เขียนสรุปมาให้แล้วภายใน 5 หัวข้อดังนี้ครับผม

ความห่างขั้นในเรื่องของฟีเจอร์และศักยภาพของตัวร้านค้า

Image result for epic games store vs steam

ประเด็นสำคัญและเป็นมวยเอกที่ฝั่งลูกค้า Steam เลือกที่จะมาโจมตี Epic และแน่นอนว่านี่เป็นการโจมตีที่ปวดแสบเพราะมันเป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ เพราะเรื่องของฟีเจอร์และศักยภาพ Steam ได้นำหน้าไปไกลมาก จริงอยู่ที่หลาย ๆ คนอาจจะกล่าวไว้ว่า “คนจะเป็นเกมเมอร์ เขาเล่นที่เกมไม่ได้เล่นที่แพลตฟอร์ม” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ Steam มีฟีเจอร์เยอะ ๆ และมีอะไรที่เอื้อต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตก็ทำให้แพลตฟอร์มนี้มี Quality of Life และ Ecosystem ที่ดีมาก ๆ เฉกเช่นเดียวกับ Apple ที่มีระบบ Ecosystem ที่ดีและมีประโยชน์ต่อการใช้งานจริง ทำให้เหล่าสาวกไว้วางใจมาโดยตลอด เรียกได้ว่ายุคสมัยนี้คำว่า Ecosystem สำคัญจริง ๆ

ในขณะที่ Steam มีแทบทุกอย่างที่แพลตฟอร์มหนึ่งควรมี (ดังภาพตัวอย่างด้านบน) หรือจะเป็น GOG ที่ชูจุดเด่นอย่าง DRM Free ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้เล่น ไหนจะ Uplay, Origin ที่มีระบบ Origin Access, Ubisoft Club เอาใจผู้บริโภคอีก ในขณะที่ Epic Games Store กลับมีแค่ระบบแชทและระบบเพื่อนเท่านั้น นอกนั้นเป็นไปด้วยความว่างเปล่าและไม่มีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ดีล่าสุดทาง Epic Games ก็ได้ประกาศว่าจะทำการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่างการเล่นเกมแบบออฟไลน์แล้ว ซึ่งหากทางค่ายยังคงเดินหน้าที่อัพเดตฟีเจอร์อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอเพื่อให้เทียบเท่า Steam ล่ะก็ ไม่แน่ทาง Epic อาจจะสามารถเรียกศรัทธาจากเกมเมอร์หลาย ๆ คนก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้พวกเขาต้องทำเวลาให้ดีด้วย เพราะยิ่งมาทีหลังและยิ่งทำตัวให้เป็นจุดสนใจก็ยิ่งกดดันเข้าไปใหญ่ครับ

ชื่อเสียงของ Epic Games ยังไม่ดีมากพอในเรื่องของการให้บริการ

Image result for paragon

เอาจริง ๆ หากเราจะบอกว่า Epic Games Store มีบริการที่ไม่ดีเพราะเพิ่งจะมาลุยตลาดร้านค้าเกมและต้องปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะฟังดูไม่แฟร์สำหรับแฟน ๆ ค่าย Epic นี้เสียเท่าไหร่ เพราะร้านค้าเกมไม่ใช่บริการแรกที่ทาง Epic ทำ ยังมีหลายบริการที่พวกเขานำเสนอให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็น Fortnite, Unreal Engine ตลอดจนเกมเก่าสุดเทพอย่าง Unreal Tournament หรือแม้กระทั่งเกมเทพที่ไม่ดันและเลือกที่จะปิดตำนานไปอย่าง Paragon เรียกได้ว่าเรื่องของบริการทางค่ายมีประสบการณ์ที่มากพออยู่แล้ว

แต่ปัญหาคือไม่ใช่เรื่องของประสบการณ์ จริงอยู่ที่บริการเอนจิ้นเกมอย่าง Unreal Engine จะทำได้ดีมาก ๆ และกลายเป็น 1 ในเอนจิ้นที่ดีที่สุดแห่งยุคนี้ แต่หากเรามาดูเรื่องของบริการอื่น ๆ เราจะเห็นได้ว่า “Epic Games จะผลักดันแค่โปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น” ซึ่งโอเคยังไงก็ไม่พ้นก็คือเรื่องของธุรกิจอยู่ดี ที่เราจะต้องเดินหน้ากับสิ่งที่ทำเงินและไปได้ไกลมากกว่า แต่เราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้อยู่ดีว่าประโยคดังกล่าวมันก็เป็นความจริงอยู่ดี

โดยกรณีศึกษาสำคัญก็คงหนีไม่พ้น Fortnite ที่เดิมทีนั้นเป็นเกมแนว Defense Co-op ยิงซอมบี้ และทำยอดขายได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แถมอัพเดทก็ออกมาไม่ค่อยถี่ แต่พอมีโหมด Battle Royale เพิ่มเข้ามาและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เราเห็นได้ชัดเลยว่า Epic Games ได้อัดแพทช์และอัพเดทลงไปในโหมด Battle Royale เกินหน้าเกินตาโหมดหลักของเกมอย่าง Save the World ไปไกลมาก ซึ่งยังดีที่พักหลัง ๆ ทางทีมพัฒนาก็เริ่มอัพเดทให้ Save the World มากขึ้น

หรือจะเป็น Paragon ที่วางขายได้ไม่นานแต่ด้วยความแป้กทำให้ทาง Epic ตัดสินใจปิดให้บริการ โดยที่หลาย ๆ คนยังคงโกรธแค้นไม่หายเรื่องของการคืนเงินที่จนถึงทุกวันนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้เงิน แสดงให้เห็นว่า Epic Games ไม่มีความพยายามที่จะผลักดันแฟรนไชส์ของตัวเอง และเน้นทำเกมที่การันตีถึงความสำเร็จเสียมากกว่า ไม่เหมือนของเคส Ubisoft ที่ถึงแม้บางเกมช่วงแรกจะออกมาแย่ แต่ก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงตัวเกมให้ดีมากขึ้นจนประสบความสำเร็จในที่สุด

นอกจากนี้แล้วฝั่งสนับสนุนลูกค้า (Customer Support) ของตัวร้านค้าขายเกมก็ค่อนข้างทำได้แย่และมีการตอบสนองที่ช้าอย่างเหลือเชื่อ (เห็นเกมเมอร์จะเข้าเล่นเกม เลยต้องขออีเมล์ตั้งแต่ห้าทุ่ม ข้อความเข้าตอนตีห้า….) ราวกับแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อผู้บริโภค แถมยังมีข่าวเสียหายว่ามีการทำข้อมูลลูกค้าบางส่วนหลุดออกไปด้วยเนื่องจากกฏของทางประเทศจีนและ Tencent ยักษ์ใหญ่ของจีนก็ถือหุ้น Epic ไว้อยู่ และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้หลาย ๆ คนไม่ค่อยไว้ใจการให้บริการจากผลพวงของสิ่งที่กระทำเมื่อที่ผ่านมานั่นเองครับ

นโยบายที่เน้นเอาใจผู้พัฒนามากกว่าทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนใจ

Related image

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลาย ๆ คนยังไม่ค่อยชอบและไม่ไว้ใจในตัวของ Epic เสียเท่าไหร่นัก เพราะถึงเราต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มนี้ดีต่อนักพัฒนาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการยื่นข้อเสนอเรื่องทุนเพื่อนำเกมลง Exclusive เป็นเวลาหนึ่งปี หรือจะเป็นเรื่องของส่วนแบ่งที่สูงมากถึง 88:12 เรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ยากเหลือเกินที่นักพัฒนาเกมจะปฏิเสธ เพราะอย่างที่เขาว่ากัน “นักพัฒนาเขาต้องกินต้องใช้ และวีดีโอเกมมันคือธุรกิจอย่างหนึ่ง”

แต่ถามว่าผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เนี่ย Epic Games Store จะมีอะไรทำให้เรารู้สึกสนใจได้บ้าง ? ณ ตอนนี้ก็มีเพียงแค่เกมฟรีเท่านั้น ซึ่งเกมที่แจกก็ล้วนเป็นเกมอินดี้ฟอร์มยักษ์ที่เกมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะเมินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมที่อื่นเขาก็มีการแจกไม่ต่างกัน (แค่ไม่แจกประจำแบบ Epic) นอกจากนั้นเราก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่จะมาดึงดูดผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ด้วยความเต็มใจ นอกจากว่าต้องไปเล่นแพลตฟอร์มใหม่เพราะเกมมันถูกดึงไปให้ไปขายแบบ Exclusive

ยังไงก็ตามเราก็ต้องจับตามองพี่แกให้ดี ๆ ละกัน เพราะไม่แน่หลังจากที่พี่แกจีบนักพัฒนาเสร็จ เขาคงจะมาเอาใจเราด้วยก็ได้นะ (ฮา)

ความเล่นใหญ่ที่บางทีอาจจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมชาวตะวันตก

สำหรับข้อนี้หากเป็นฝั่งเราก็คงไม่ค่อยอินไปกับเขาเสียเท่าไหร่ เพราะฝั่งเราเรามักจะมีวัฒนธรรมเอาอกเอาใจผู้ผลิตและปกป้องผู้ผลิตกันสุดหัวใจ (แต่เดี๋ยวนี้เกมเมอร์บ้านเราเราเริ่มรู้เรื่องของ “สิทธิ์ของผู้บริโภค” แล้ว) และเราอาจจะมองว่าพวกที่บ่นและโวยวายเรื่องนี้นั้น “งอแง” เสียมากกว่า แต่สำหรับฝั่งตะวันตกที่ถือได้ว่า “ลูกค้าคือพระเจ้าทั้งปวง” แล้ว แพลตฟอร์มนี้ถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะสร้างความหงุดหงิดและโกรธแค้นให้เกมเมอร์พอสมควรไม่น้อยเลยทีเดียว และการที่เขาบ่นและโวยวายก็ถือว่าเป็น “สิทธิ์ผู้บริโภค” ที่ฝั่งเราก็เริ่มมีการออกมาพูดอะไรแบบนี้กันบ้างแล้ว (ยกเว้นการโหลดเถื่อนอันนี้คือการละเมิดสิทธิ์)

โดยสาเหตุที่ฝั่งตะวันตกรู้สึกโกรธแค้นและไม่ค่อยชอบ Epic Games Store หากไม่นับเรื่องของความเกลียดชังเป็นทุนเดิมอย่างในเคสของ Fortnite แล้ว ก็คงเป็นเรื่องของนโยบายที่เหล่าเกมเมอร์ตะวันตกมองว่าสิ่งนี้กำลังจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกและเป็นการผูกขาดอย่างหนึ่ง และเขาก็ไม่ได้เห็นว่าการกระทำโดยการเอาทุนฟาดหน้านักพัฒนายับ ๆ แบบนี้จะเป็นการแข่งขันที่มีผลดีต่อผู้บริโภคที่ไหน แถมพวกเขาก็แทบไม่มีอะไรที่เตรียมพร้อมเลย จึงสรุปได้ว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะเป็นโจทก์สำคัญของเกมเมอร์ฝั่งตะวันตกพอสมควรเลยก็ว่าได้ ด้วยความเล่นใหญ่ในด้านสายเปย์ ทั้ง ๆ ที่ฟีเจอร์อะไรต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อมสักอย่าง

**แต่ในกรณีของ Ubisoft กับ The Division 2 ทางผู้เขียนมองว่านี่เป็นการเล่นเกมมากกว่า เพราะจริง ๆ แล้วทางค่ายอาจจะพยายามดัน Uplay เพราะในเมื่อ Epic ไม่พัฒนาอะไรเพื่อผู้บริโภคสุดท้ายเกมเมอร์ก็จะต้องมาที่ Uplay ที่อะไรก็ดีกว่า)

สรุปง่าย ๆ ก็คือ Epic Games Store ยังเด็กอยู่ในตอนนี้

อาจจะฟังดูเป็นคำสบประมาทไปเสียหน่อย แต่นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของแพลตฟอร์มเกิดใหม่ที่จะต้องหาจุดลงตัวและต้องพยายามอย่างหนักที่จะครองใจเหล่าเกมเมอร์ และยิ่งมาทีหลังก็ต้องยิ่งพยายามให้หนัก เพราะรุ่นน้องอย่าง Epic Games Store ก็ล้วนมีตัวอย่างรุ่นพี่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาถึงจุดนี้ได้อย่าง Steam, Origin, Uplay, GOG และ Battle.net เรียกได้ว่ามีเคสศึกษาให้เยอะมาก ๆ (แต่ไม่ทำตาม…) บวกกับแรงกดดันอันมหาศาลก็ย่อมเกิดขี้น และยิ่งเล่นใหญ่ก็ยิ่งกลายเป็นเป้าสายตาของเกมเมอร์เข้าไปอีก

ซึ่งอย่างน้อยเราก็ลองเปิดใจสำหรับการจับตามองการเติบโตของร้านค้าหน้าใหม่บ้างก็ไม่เสียหาย เพราะไม่แน่ระยะยาวพวกเขาอาจจะหันมาเอาใจผู้บริโภคกันมากขึ้น และพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้เทียบพร้อมเท่ากับรุ่นพี่ เพียงแต่พวกเขาอาจจะต้องรีบเร่งและทำเวลาให้ดีเสียหน่อย เพราะหากยังคงค่อยเป็นค่อยไป พัฒนาอย่างช้า ๆ และเน้นใช้กลยุทธ์สายเปย์แบบนี้ก็เกรงว่าอาจจะไม่มีผลดีต่อตัวร้านค้าเสียเท่าไหร่ แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาที่พวกเขามีของที่พร้อม เราก็คงเรียกสงครามครั้งนี้ได้เต็มปากเสียทีว่า “การแข่งขัน” ครับ

BabeElena

Back to top