BY Aisoon Srikum
23 Jul 20 5:25 pm

ไขข้อสงสัย คำว่า ‘Gamer’ แท้จริงแล้วคืออะไร ? ใช้กับใครได้บ้าง ?

645 Views

เมื่อใดที่พูดคำว่า “เกมเมอร์” หลายคนย่อมนึกถึงนักเล่นเกมมืออาชีพ คนที่เล่นเกมเก่ง และอื่น ๆ อีกมาก แต่ดูเหมือนว่าในประเทศไทยเรา ถกเถียงกันมานานแล้วว่า เกมเมอร์กับคนที่เล่นเกมไปวัน ๆ หรือเป็นเด็กติดเกมนั้น มีความต่างกันอยู่อย่างชัดเจน แล้วจริง ๆ แล้ว นิยามคำว่า Gamer คืออะไร ใช้กับใครได้บ้าง

ตามหลักทั่วไปแล้ว “เกมเมอร์” คือใคร ?

ในสื่อสากลนั้น หลายเว็บไซต์ระบุไว้ว่า เกมเมอร์ ก็คือบุคคลที่เล่น ตอบโต้กับวิดีโอเกมตามบทบาท ซึ่งเว็บไซต์อย่างวิกิพีเดียนั้น นับรวมทุกประเภทไม่ว่าคุณจะเล่นบน PC , Console หรือแม้แต่พวกเกมบนโต๊ะ Table Top, Board Game ก็นับเป็นเกมเมอร์ทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ

แต่ด้วยความที่ปัจจุบัน คนที่เล่นเกมนั้นแบ่งแยกย่อยออกไปอีกหลากหลายสาย ทั้งคนที่เล่นเฉย ๆ คนที่เล่นเป็นอาชีพ (นักกีฬา E-Sports) และยังมีชุมชนอีกมากมายทั่วโลก ทำให้นัยยะและความหมายของคำว่าเกมเมอร์ เริ่มต่างกันออกไปแล้วแต่บริบทและชุมชนที่ใช้

แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งที่จะไม่นับคนกลุ่มนี้ หรือบุคคลกลุ่มนี้ว่า เกมเมอร์ เพียงเพราะไม่ได้เล่นเป็นอาชีพ หรือเล่นเกมเป็นหลัก

ดังนั้นว่ากันตามตรงแล้ว พูดให้อธิบายง่ายที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด เกมเมอร์ก็คือคนเล่นเกม แต่มันจะถูกเจาะลึก ขยายขึ้นไปมากกว่านี้อีกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้น ๆ เหมือนอย่างเช่นที่เห็นคนเล่นกีตาร์เป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นคือนักดนตรีมืออาชีพ

Gamer / Hardcore Gamer

สำหรับการแปลทับศัพท์นั้น ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ในไทยอาจถูกตีความไปในทางลบมากกว่า แต่จริง ๆ แล้ว ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์คือเหล่านักเล่นเกมตัวยง อาจจะเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ หรือแฟนเดนตายเลยก็ว่าได้ เพียงแต่ด้วยความหลากหลายของค่ายเกม และแนวเกมในปัจจุบัน เราจึงไม่อาจเหมารวม หรือจำกัดความในวงแคบให้กับคำว่า Hardcore Gamer ได้อีกต่อไป

เช่นบางคนอาจเป็นแฟนตัวยงของค่าย Nintendo หรือชอบเล่นเกมบน PC แต่กลับถูกเหล่านักเล่นเกมบางกลุ่มบอกว่า เฮ้ ถ้าคุณไม่เป็นเจ้าของเครื่อง PlayStation แล้ว คุณก็ไม่ใช่เกมเมอร์ตัวจริงหรอกนะ

แน่นอนว่าคนที่พูดแบบนี้ มีทั้งพูดแบบติดตลก เพราะคิดว่าเกม Exclusive บนเครื่อง PlayStation นั้น คือเกมระดับเทพที่ดีจนหลายคนไม่ควรพลาด แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เอาจริงเอาจังกับวลีคำพูดพวกนี้ก็มีอยู่จริง ๆ เหมือนกัน และบ่อยครั้งที่มันเป็นสาเหตุนำไปสู่การถกเถียงกันอันไร้จุดสิ้นสุดบนโลกโซเชียลมีเดีย

อย่างเช่นแม่ของคุณที่กำลังนั่งเล่นเกม FarmVille อยู่บนมือถือแบบทุกวี่ทุกวัน คำนวณตารางเวลาเก็บผักแบบเป๊ะ ๆ ไม่เคยพลาด หรือดีไม่ดีก็เติมเงินด้วย แบบนี้คุณจะเรียกเธอว่า เกมเมอร์ด้วยหรือเปล่า ? มันอาจไม่ใช่เกมที่ทุกคนสนใจ แต่มันก็ญังเป็นเกม แล้วแบบนี้คือเรียกว่าเกมเมอร์ได้หรือไม่ ?

อย่าลืมว่าปัจจุบัน คนสูงอายุที่หันมาเล่นเกมเป็นหลักก็มีเยอะ ทั้ง Gamer Grandma หรือคุณยาย Hamako Mori ที่เป็นเกมเมอร์อายุกว่า 90 ปี หรือ Shirley Curry อายุ 84 ปีที่ยังคงเล่นเกมทุกวัน อย่างนี้คุณจะนับพวกเธอเป็นเกมเมอร์ด้วยหรือไม่

เว็บไซต์ Venturebeat ได้ยกตัวอย่างคำพูดด้านบนมาวิจารณ์ว่า การที่คุณเป็นเจ้าของเครื่อง PlayStation นั้น ไม่ได้ทำให้คุณเหนือชั้น แล้วก็ไม่ได้ทำให้คุณเป็นนักเล่นเกมตัวยงมากกว่าคนที่ชื่นชอบฝั่ง Nintendo แม้ว่านวัตกรรม เทคโนโลยีของทั้งสองฝ่ายจะเห็นได้ชัดในเรื่องความล้ำสมัย แต่สุดท้ายแล้ว บทสรุปของเรื่องนี้คือ “ความชอบส่วนบุคคล”

มันไม่ผิด ถ้าหากคุณจะชื่นชอบเกมแนวใดแนวหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ผิดหากคุณจะชอบเล่นเกมบนเครื่องใดเครื่องหนึ่ง ไม่ผิดถ้าคุณจะชอบเล่นเกมที่ระดับความยากต่างกัน บางคนชอบง่าย บางคนชอบยาก นั่นก็เพราะพื้นเพแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

และไม่ว่าคุณจะชอบอะไร คุณก็ไม่อาจที่จะดูถูกความชอบของคนอื่นทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะเล่น PC , PlayStation , XBOX , Nintendo Switch หรือแม้แต่เกมบนมือถือ ทุกอย่างล้วนมีบทสรุปที่ ความชอบส่วนบุคคล และไม่ควรดูถูกหรือก้าวก่ายกันและกัน

น่าเสียดายที่มันเป็นสิ่งที่ใครหลายคนไม่เคยยอมกันง่าย ๆ โดยเฉพาะบนโลกโซเชียลที่การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องอิสระมาก พิมพ์ไม่กี่วินาที กดส่งข้อความ แล้วก็จะเรียกเสียงวิจารณ์และคอมเมนท์อีกนับร้อย ไปสู่การถกเถียงที่ไร้ซึ่งจุดจบ

ถ้าแค่เพียงเพราะว่าแต่ละคนเข้าใจว่า สุดท้ายคนเราก็ชอบคนละอย่างกัน ทุกอย่างก็คงไม่มีอะไรยากอยู่แล้ว

ทุกคนล้วนเป็นเกมเมอร์ได้

ในบทความปิดท้ายของ Venturebeat พวกเขาคิดว่า “ทุกคนที่เล่นวิดีโอเกมอย่างสม่ำเสมอ” นั่นแหละ คือเกมเมอร์ทุกคน รวมไปถึงคนที่เล่นเกมมือถือทุกคนก็เป็นเกมเมอร์อยู่ดี

เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีนิยามไหน หรือคำใดที่ชัดเจนมากพอจะตีกรอบคำว่าเกมเมอร์อยู่แล้ว สิ่งที่เหล่าเกมเมอร์ทุกคน อาจจะเริ่มได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ คือการยอมรับในความแตกต่างของความชอบส่วนบุคคลของแต่ละคน ไม่ว่าจะเกมมือถือ เกมพีซี เกมคอนโซล หรือเกมบนเครื่องพกพา แต่ละเกมล้วนอำนวยความสะดวกต่างกัน มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การยอมรับในความแตกต่างของทุกคน ล้วนเป็นสิ่งสามัญที่ต้องทำกันอยู่แล้ว และถ้าเราเปิดใจให้กว้าง พูดคุยกับทุกคนด้วยความรู้สึกที่ว่ามันเป็นวิดีโอเกมเหมือนกัน คุณอาจจะค้นพบแนวเกมใหม่ ๆ หรือเกมที่สนุกมากก็เป็นได้

ไม่ว่าจะเล่นเกมอะไรรูปแบบไหน ทุกคนล้วนเป็นเกมเมอร์ได้ครับ

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top