BY Putinart Wongprajan
27 May 25 3:34 pm

เล่นแล้วมาเล่า: ShadowVerse Worlds Beyond

1,416 Views

**เวอร์ชันที่ทางทีมได้ลองเล่นยังเป็นเวอร์ชันทดสอบ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเปิดให้บริการจริงในภายหลัง**

GamingDose บินไกลถึงประเทศไต้หวันเพื่อเข้าร่วมทดสอบเกมการ์ดภาคล่าสุดจาก Cygames กับ ShadowVerse: Worlds Beyond ที่ต่อยอดมาจากเกมการ์ดยอดนิยมแห่งปี 2016 มันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มาติดตามกันได้ใน เล่นแล้วมาเล่า ShadowVerse: Worlds Beyond

เกมใหม่ที่ต่อยอดมาดีกว่าเดิม

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า ShadowVerse คืออะไร ShadowVerse คือการ์ดเกมแบบดิจิทัลที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 17 มิถุนายน 2016 บนระบบ PC และมือถือ iOS กับ Android พัฒนาโดยค่าย Cygames ที่มีกติกาการเล่นเข้าใจง่ายพร้อมภาพงานศิลป์แบบอนิเมะญี่ปุ่น พร้อมกับการ Collaboration ตัวละครจากซีรีส์อนิเมะอื่น ๆ อีกมากมาก และได้รับความนิยมให้กลุ่มคนชอบเล่นการ์ดเกมจากญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง

และหลังจากที่เปิดให้บริการมาได้เกือบสิบปี Cygames ก็เลือกที่จะทำสิ่งใหม่ ด้วยการสร้างภาคต่อเป็นเกมใหม่ในชื่อว่า ShadowVerse: Worlds Beyond ที่กำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ซึ่งตรงกับวันที่เกมภาคแรกเปิดให้บริการเมื่อเก้าปีที่แล้วพอดี

ShadowVerse: Worlds Beyond มีการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนเมื่อเทียบกันกับเวอร์ชันแรกสุด อย่างแรกคือหน้าตา UI ที่มีการปรับเปลี่ยนให้มองได้ง่ายขึ้น เหมาะกับการเล่นบนเครื่องมือถือหรือ Tablet มากกว่าเดิม และกราฟฟิกเองก็พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งแค่หน้าเมนูเลือกโหมดการเล่นก็รู้สึกได้ว่าคำสั่งต่าง ๆ ก็มีความละเอียดมากขึ้นและรันได้ลื่นไหลมากขึ้น

สำหรับในส่วนของหน้า Home นั้นทางเรายังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะตัวเกมล็อกเอาไว้ให้ปรับแต่งได้อย่างจำกัด แต่ที่เห็นได้ชัดคือหน้าจอ Wallpaper จะเป็นแบบ Live 2D เคลื่อนไหวได้ ซึ่งต่อยอดมาจากเกมภาคเก่าในยุคหลังที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เปลี่ยนฉากหลังแบบ Live 2D ได้อย่างอิสระเหมือนกับภาคที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราได้ Skin Leader มาใหม่ ภาพตรงนี้ก็น่าจะมีให้เปลี่ยนแน่ ๆ 

รวม ๆ แล้วในเรื่องของหน้าตาของเกมมีความเปลี่ยนไปในทางที่ค่อนข้างดีขึ้น แต่เรื่องการใช้งานจริงนั้นเราคงต้องมารอดูกันตอนเกมออกกันอีกที

Gameplay ที่ปรับมาใหม่ เร้าใจกว่าเดิม

ส่วนที่ทางเราได้สัมผัสกันแบบเต็ม ๆ จริง ๆ ก็คือ Gameplay แบบใหม่ที่ถ้าใครเคยเล่น ShadowVerse ภาคแรกมาก่อนจะเข้าใจได้เลยทันที เพราะแทบจะเหมือนกับภาคเก่าทุกอย่าง ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายหรือ Leader จะมีพลังชีวิต 20 หน่วย ผลัดเทิร์นกันเล่นการ์ดที่มีตั้งแต่ Follower หรือผู้ติดตามที่ช่วยโจมตีหรือป้องกัน โดยจะวางได้สูงสุด 5 ตัว คาถาแบบต่าง ๆ ที่มีตั้งใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือวางไว้ในสนาม ผู้เล่นที่พลังชีวิตหมดหรือการ์ดหมดกองก่อนก็จะเป็นฝ่ายแพ้ไป

จุดที่ต่างกันนั้นก็คือตรงที่ในเทิร์นแรก ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะได้จั่วการ์ดเท่ากันคือสี่ใบ คนที่ได้เริ่มเล่นที่หลังจะได้รับ PP หรือ Playpoint เพิ่มจากปกติหนึ่งเม็ด และอีกหนึ่งเม็ดเมื่อเล่นผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่เสียเปรียบจากการเป็นผู้ตามมากนัก เพราะจะสามารถเล่นการ์ดที่มีค่า PP ที่เท่า ๆ กับฝ่ายที่เริ่มก่อนได้แม้จะได้เล่นทีหลังก็ตาม หรือถ้าเก็บไว้ใช้ในเทิร์นหลัง ๆ ก็เก็บไว้ได้สูงสุดถึง 11 แต้มเลยทีเดียว

อีกส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเรื่องของการ Evolution Follower ที่เป็นจุดเด่นหลักของเกมนี้ เม็ด Evolution นั้นในภาคแรกผู้ที่ได้เริ่มเล่นก่อนจะใช้งานได้แค่สองเม็ด คนที่เริ่มทีหลังจะใช้ได้สามเม็ดและได้สิทธิ์ในการ Evolution ก่อน ซึ่งการ Evolution นั้นจะทำให้ Follower มีพลังโจมตีกับพลังป้องกันเพิ่มขึ้นอย่างละ 2 แต้ม พร้อมได้รับความสามารถ Rush  หรือก็คือสามารถโจมตีใส่ Follower ฝ่ายตรงข้ามได้เลยตั้งแต่เทิร์นที่ลงมา รวมถึง Follower บางตัวจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นมาอีกเมื่อทำการ Evolution ช่วยให้พลิกเกมได้ง่ายดายขึ้น

แต่ใน ShadowVerse: Worlds Beyond นั้น เม็ด Evolution จะได้รับเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่ายคือสองเม็ด แต่จะมีรูปแบบการ Evolution แบบใหม่เพิ่มขึ้นมานั่นก็คือ Super Evolution ที่จะเพิ่มความสามารถของ Follower ขึ้นไปอีก คราวนี้ Follower ที่ได้ Super Evolution จะได้พลังโจมตีและป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างละ 3 แต้มพร้อมความสามารถ Rush และจะไม่ถูกทำลายในเทิร์นนั้น และถ้าสามารถทำลาย Follower ฝ่ายตรงข้ามได้ ก็จะสร้างความเสียหายโดยตรงให้กับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามอีก 1 แต้มด้วย พร้อมกับการขยายที่ตัวที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่าได้ผ่านการ Super Evolution มาแล้วนั่นเอง

รวมถึงความสามารถหลัง Super Evolution ของ Follower บางตัวก็เพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน เช่นจากเดิมที่ Follower ตัวนั้นมีความสามารถในการเพิ่มพลังชีวิตให้กับผู้เล่นเทิร์นละ 2 แต้ม ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็นเทิร์นละ 6 แต้ม แต่กว่าที่เราจะได้ใช้ความสามารถ Super Evolution นั้นก็จะล่วงเลยไปช่วงปลายเกมหรือประมาณเทิร์น 7 หรือ 8 แล้ว และถ้าหากเลือกใช้ไม่ดี ก็อาจทำให้พ่ายแพ้ได้เลย

อีกระบบหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือระบบ Crest ที่เราจะได้รู้ได้ว่า Leader Effect หรือความสามารถจากผลของ Leader แต่ละฝ่ายนั้นทำงานมีลำดับก่อนหลังอย่างไรบ้าง แต่ในเวอร์ชันที่เราทดสอบนั้นยังแสดงออกมาไม่ชัดเจนนัก เพราะคลาสที่มีให้เล่นยังจำกัดอยู่ แต่คาดว่าน่าจะมีคลาสที่ใช้ประโยชน์จากระบบ Crest นี้ได้เต็มที่ออกมาให้เห็นกันแน่นอน

ส่วนที่เหลือก็คือการปรับระบบความสามารถแบบเก่า ๆ หรือ Keyword ให้มีความเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่ง Keyword หลายอันก็ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม เช่น Intimidate ที่ Follower ฝ่ายตรงข้ามจะไม่สามารถโจมตีได้ Aura ที่จะไม่สามารถถูกเล็งเป้าหมายได้จากความสามารถของการ์ดฝ่ายตรงข้าม และ Barrier ที่จะเป็นการป้องกันการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามได้หนึ่งครั้ง เหมือนกับความสามารถ Divine Shield ของเกม HeartStone นั่นเอง

โดยรวมสิ่งที่ปรับปรุงขึ้นมาจากภาคที่แล้วคือการพัฒนาระบบ Evolution ใหม่ที่จะเปลี่ยนกระแสของเกมได้ในพริบตา ปรับ Keyword ของความสามารถให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงปรับสมดุลของระบบเก่า ๆ ให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นเกมใหม่ได้เลย

ระบบคลาสที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ใน ShadowVerse: Worlds Beyond จะยังมีคลาสให้เลือกใช้งานในจำนวนที่เท่า ๆ กับภาคเก่า ซึ่งแต่ละคลาสจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป โดยในเกมที่เราทดสอบนั้นจะมี Starter Deck หรือชุดการ์ดเริ่มต้นให้เลือกใช้งานทั้งหมดสามแบบสามคลาส โดยแบ่งออกได้ดังนี้

Dragoncraft: คลาสที่เต็มไปด้วย Follower ทรงพลังมากมาย แต่ก็แลกมาด้วยค่าร่ายที่สูงมาก แม้จะต้องพึ่งพา Follower มากหน่อย แต่คลาสนี้ก็มี Spell หรือคาถาดี ๆ ให้ใช้งานไม่น้อยเช่นกัน เช่นการ์ดกำจัด Follower ฝ่ายตรงข้ามทั้งแบบยิงกวาดทั้งสนามหรือจัดการรายตัว การ์ดเพิ่มเม็ด Playpoint หรือที่ผู้เล่นเรียกกันว่าการ์ด Ramp ที่จะช่วยให้เราร่าย Follower เก่ง ๆ ได้เร็วขึ้น และถ้าเก็บ Playpoint ได้ครบ 7 เม็ดเมื่อไหร่ ก็จะได้รับบัพ Overflow ที่ความสามารถของการ์ดหลายใบจะเพิ่มขึ้นมาก คนที่ชอบมังกรตัวใหญ่ ๆ เท่ ๆ ปิดเกมอย่างยิ่งใหญ่น่าจะชอบคลาสนี้

Abysscraft หรือ Nightmare: คลาสใหม่ที่เป็นการรวมกันระหว่างสองคลาสเก่าอย่าง Bloodcraft และ Shadowcraft ดึงเอาจุดเด่นของทั้งสองคลาสมารวมกันเป็นคลาสเดียว โดย Starter Deck ของคลาสนี้จะเป็นการใช้ความสามารถ Necromancy เล่นกับจำนวนการ์ดที่ใช้ไปแล้วในเกมนั้น โดยจะเรียกว่า Shadow ซึ่งการ์ดหลายใบจำเป็นต้องมีค่า Shadow ตามที่กำหนดไว้จึงจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสามารถชุบชีวิต Follower ที่ถูกทำลายไปแล้วให้กลับมาลงสนามได้อีกครั้งจากความสามารถ Reanimate ตัวไหนที่ฆ่าไปแล้วก็จะกลับมาหลอกหลอนกันอีกเรื่อย ๆ ใครชอบ Deck สไตล์เล่นเรื่อย ๆ แม้การ์ดจะไม่เหลือแล้วก็น่าสนใจไม่น้อย

Portalcraft หรือ Nemesis: คลาสนี้จะมาในสไตล์อนาคตทะลุมิติ ใช้สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ สร้างกองทัพที่มาไวไปไวเพื่อกำชัยชนะ ซึ่ง Starter Deck ของคลาสนี้จะเน้นไปที่การเรียก Puppet หรือหุ่นเชิดที่จะอยู่ในสนามได้แค่ไม่กี่เทิร์นเท่านั้น แต่ข้อดีคือร่ายได้ฟรีและเสกมาได้เรื่อย ๆ พร้อมกับปิดเกมด้วยการ์ดที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับ Puppet เหล่านี้ตีเพื่อปิดเกมได้ในตอนท้าย ซึ่งถือว่าเป็น Deck ที่เล่นได้ง่ายแต่แข็งแกร่ง แต่ในอนาคตคลาสนี้ก็จะมี Deck ที่มีวิธีเล่นที่ซับซ้อนกว่านี้ออกมาแน่นอน

นอกจากนั้นยังมีการ์ด Neutral ที่ไม่ได้อิงกับคลาสใดเป็นพิเศษ สามารถใส่ในคลาสใดก็ได้ เพิ่มความหลากหลายหรือความลื่นไหลในการเล่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งผู้เล่นก็สามารถชนะเกมได้จากการ์ดคลาส Neutral ได้เหมือนกัน

นอกจากสามคลาสที่เราได้ทดลองเล่นไป ยังมีอีกสี่คลาสที่จะมีให้เล่นเพิ่มเติมในช่วงเกมเปิดดังต่อไปนี้

Swordcraft หรือ Royal: คลาสที่เน้นไปที่เหล่านักรบตัวเล็กที่โถมตีเข้าใส่อย่างไม่หยุดยั้ง มี Follower ขนาดเล็กและใหญ่ให้เลือกใช้มากมาย แต่ปริมาณและความต่อเนื่องนั้นจะมีมากกว่า Dragoncraft และเสริมพลังด้วยการ์ดเพิ่มพลังโจมตี Follower ของฝ่ายเราทั้งสนามเพื่อโถมตีปิดเกม

Havencraft หรือ Bishop: คลาสที่โดดเด่นในเรื่องของพลังป้องกัน เพิ่มเลือดเพิ่มพลังชีวิตให้กับผู้เล่นและ Follower ในสนาม การ์ดที่มีส่วนใหญ่จะเป็นการ์ดที่เอาไว้ใช้คุมเกมเป็นส่วนมาก ยื้อเกมก่อนที่จะเอาชนะไปได้ในช่วง Late Game อย่างเด็ดขาด

Runecraft หรือ Witch: คลาสผู้ใช้เวทมนตร์ที่เน้นไปที่การโจมตีด้วย Spell หรือคาถาหลากหลายชนิด มีทั้งการ์ดโจมตีผู้เล่นโดยตรง เรียกสัตว์อสูรมาใช้งาน และการ์ดคุมเกมที่จะยิ่งแกร่งขึ้นในช่วงท้ายเกม

Forestcraft หรือ Elf: คลาสเหล่านักสู้จากพงไพรที่มีทั้งการ์ดเรียก Fairy มาช่วยต่อสู้ และการ์ดคาถาที่มีความสามารถแปลก ๆ มากมาย คลาสนี้จะเน้นไปที่การเล่นการ์ดแบบต่อเนื่องในเทิร์นเดียว ยิ่งเล่นมาก การ์ดใบถัดไปที่ร่ายจะยิ่งแรงขึ้นมาก

ซึ่งในเวลานี้ การ์ดที่เปิดเผยออกมานั้นยังไม่ครบจำนวน ทำให้บางคลาสเราอาจจะเดาวิธีการเล่นได้ยากไปนิด แต่เชื่อว่าจุดเด่นเดิมของแต่ละคลาสน่าจะไม่หนีจากเกมภาคเก่าอย่างแน่นอน

การเชื่อมต่อแบบออนไลน์ที่ยังทำได้อย่างง่ายดาย

ส่วนที่เราได้ลองทดสอบนั้นจะมีในส่วนของโหมด Practice ที่เอาไว้ตีกับ AI ที่อยู่ในระดับเริ่มต้น เหมือนเป็นการเรียนรู้ว่าแต่ละ Deck นั้นทำงานอย่างไร กับ Private Match ที่แค่สร้างห้องแล้วเอารหัสห้องให้กับผู้เล่นที่อยากเล่นด้วยเข้ามาแจมก็ทำได้อย่างง่ายดายเช่นเดิม ซึ่งระบบการเชื่อมต่อของเกมการ์ดแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเร็วมากก็ได้ ขอแค่เสถียรและไม่ล่มกลางทางก็เป็นอันใช้ได้แล้ว

ซึ่งหลังจากที่ได้ลองทดสอบแบบ Private Match ไปเกมยังคงรันได้ลื่นไหลเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องมาดูกันก็คือในวันเปิดให้บริการจริงนั้นจะยังลื่นไหลแบบนี้อยู่หรือเปล่า ซึ่งจากผลงานที่ทาง Cygames เคยทำไว้ ก็น่าจะเชื่อมือได้ในระดับหนึ่งว่าเกมน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการเล่นโหมดออนไลน์ค่อนข้างแน่นอน

น่าเสียดายที่คอนเทนต์บางอย่างเช่นระบบ Park ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่เปิดเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการเล่นการ์ดนั้นยังไม่เปิดให้เข้าไปทดสอบ ซึ่งก็อาจจะต้องรอดูวันเกมเปิดจริงว่าจะออกมามีหน้าตาแบบไหน เพราะมันคงน่าสนุกดีที่ได้เห็นตัวละครของเราออกไปโลดแล่นในลานกิจกรรมขนาดใหญ่ร่วมกับผู้เล่นคนอื่นในโลกออนไลน์ และสนุกกับของเสริมอื่น ๆ ได้แบบเต็มที่ด้วยเช่นกัน

Conclusion

โดยรวมแล้ว ShadowVerse: Worlds Beyond นั้นมีข้อดีที่พัฒนาขึ้นจากภาคแรกหลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องของสมดุลเกมที่ปรับปรุงขึ้นมาก มีการลดจำนวนคลาสและความสามารถของการ์ดประจำคลาสที่ให้เล่นเพื่อสามารถ Balance ตัวเกมให้ง่ายมากขึ้น เรียกว่าในภาพรวมมีความเตรียมพร้อมที่มากขึ้น และน่าจะถูกใจคนที่ชอบการ์ดเกมสไตล์อนิเมะไม่น้อยทีเดียว

ShadowVerse: Worlds Beyond เปิดให้บริการในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ บนระบบ PC และมือถือ ทั้งบน iOS และ Android

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top