BY KKMTC
2 Jun 21 11:03 pm

ลองแล้วมาเล่า: F1 2021 ภาคต่อเกมแข่งรถสูตรหนึ่งที่เล่นใหญ่กว่าทุกภาค

58 Views

เกมเมอร์สาย Racing น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า F1 เป็นตระกูลเกมแข่งรถของทีมงาน Codemasters ซึ่งเป็น Official Licensed Game หรือเกมลิขสิทธิ์แท้จากสมาคม FIA อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม เกม F1 ปีนี้จะแตกต่างจากทุกภาคที่ผ่านมา เพราะ EA Sports ได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเกมนี้ หลังจาก EA ซื้อทีมงาน Codemasters เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัท EA ก็เปิดโอกาสให้ GamingDose ได้สัมผัสทดสอบเกม F1 2021 แบบ Hand On ล่วงหน้า แล้วเกมดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร ก็สามารถรับชมบทความพรีวิวความรู้สึกแรกจากการเล่นเกมนี้ได้เลย

Career Mode ล้ำลึกกว่าที่เคย

ในเกมเวอร์ชัน Hand On จะประกอบด้วยโหมด Career, โหมด Grand Prix ซึ่งเปรีียบเสมือนเป็น Custom Race เลือกหมวดการแข่งขันได้ระหว่าง F1, F2 และโหมด Time Trial จับเวลาเท่านั้น โดยยังไม่สามารถเข้าถึงโหมดเนื้อเรื่อง Braking Point กับ Multiplayer ได้

ถ้าใครเคยเล่นโหมด Career ใน F1 ภาคเก่ามาก่อน ผู้เล่นจะเข้าใจวิธีเล่นโหมดดังกล่าวทันที แต่ภาคนี้ได้เพิ่มตัวเลือก Accessibility ใหม่ ช่วยเพลเยอร์สามารถปรับแต่งรูปแบบเกมเพลย์ เพื่อตรงกับสไตล์การเล่นเกมของแต่ละคนมากขึ้น

ช่วงเริ่มต้นของโหมด Career ผู้เล่นสามารถตั้งชื่อ, ตั้งนามสกุล และเลือกทีมที่ต้องการสังกัด ซึ่งแต่ละทีมจะมีเป้าหมายการแข่งขันแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Williams Racing ทีม F1 น้องใหม่กำลังมาแรง ต้องการนักแข่งรถที่มีความสามารถทำให้ทีมเติบโตในระยะยาว ฉะนั้นการเล่นในทีมนี้จะเน้นส่วนของการพัฒนา R&D (Research & Development) มากกว่าการแข่งขันเอาชนะที่ 1

ในขณะที่ทีม AMG Petronas Formula One Team ซึ่งเป็นหนึ่งในทีม F1 ที่มีชื่อเสียงและแข็งแกร่งที่สุด ต้องการนักแข่งรถที่มีความสามารถเอาชนะการแข่งขันอันดับต้น ๆ ฉะนั้นทีมนี้จะมีแผนก R&D พร้อมส่วนหนึ่ง และให้เพลเยอร์มุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อชิงอันดับ 1 อย่างเต็มที่

F1 2021

หน้าต่างในโหมด R&D

โหมด Career ในเวอร์ชัน Hand On จะให้เราได้ทดลองเล่นเกมแข่งขันจำนวน 1 ซีซัน โดย 1 ซีซันมีการแข่งขันทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งระหว่างการเตรียมตัว ผู้เล่นสามารถเข้าชม Profile ของตัวเอง หรืออัปเกรดจัดการ R&D ของทีม

การอัปเกรด R&D จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้รถ F1 ของเรามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยผู้เล่นสามารถอัปเกรดได้ตั้งแต่เครื่องยนต์ แอโรไดนามิก และอื่น ๆ รวมทั้งหมดเป็น 4 หมวด แต่ก่อนการอัปเกรด ทีม F1 จำเป็นต้องใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยเป็นเวลาราว 10-20 วันในเกม ซึ่งการวิจัยอาจมีโอกาสสำเร็จหรือล้มเหลวได้

เมื่อถึงวันแข่งขันจริง ผู้เล่นต้องผ่านช่วงเวลาการฝึกฝน หรือ Practice Session ซะก่อน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวเกมจะมอบ Objective เสริมแบ่งออกเป็น 3 หมวด เช่น Race Strategy, Track Acclimatisation กับ ERS Management ซึ่งทุกครั้งที่ผู้เล่นทำ Objective สำเร็จ ก็จะได้รับรางวัลเป็นค่าเงิน Resource Point และ Development Boost สำหรับใช้อัปเกรด R&D ฉะนั้นการทำ Objective ในช่วงเวลา Practice Session จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ใน Practice Session จะมี Objective เสริมให้ทำมากมาย

หลังจากจบช่วงเวลา Practice Session แล้ว ผู้เล่นจะเริ่มเข้าสู่การแข่งขันรอบ Qualifying แล้วจากนั้นเริ่มการแข่งขันจริงอย่างเป็นทางการ

ระบบการขับรถยังเร้าใจเหมือนเดิม

ระบบการขับรถของภาคนี้จะคล้ายคลึงกับเกมภาคก่อน คือเน้นรายละเอียดการขับที่สมจริง แต่ไม่ได้สมจริงจนเล่นยากเกินไป โดยรถยนต์จะมีการตอบสนองดีมาก มีน้ำหนักเบา และมีความเร็วสูงตามสไตล์รถแข่ง F1 ที่พวกเราเข้าใจกันเป็นอย่างดี

ระหว่างการแข่งขัน นอกจากผู้เล่นต้องเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุดแล้ว เพลเยอร์ต้องคอยรักษาน้ำใจนักกีฬาอีกด้วย เช่น ห้ามชนรถคู่แข่งแรงจนเกินไป (Contact) ห้ามขับรถลัดสนาม (Cutting Corner) ต้องชะลอความเร็วหากมีอุบัติเหตุ ซึ่งหากทำผิดกฎ ผู้เล่นจะโดนลงโทษด้วยการบังคับห้ามเร่งความเร็วรถยนต์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แล้วหากเป็นการแข่งขัน Endurance Race ที่ต้องใช้เวลาแข่งนานเกิน 10 นาทีขึ้นไป ผู้เล่นจะต้องคอยควบคุมบริหารการใช้น้ำมันรถยนต์ และล้อรถให้สามารถขับได้นานที่สุด โดยวิธีบริหารล้อกับน้ำมันรถสามารถเรียนรู้ได้จากการทำ Objective ใน Practice Session

หลังจบหรือก่อนเริ่มแข่งขัน บางครั้งผู้เล่นต้องตอบสัมภาษณ์จากทีมนักข่าว โดยแต่ละคำตอบจะส่งผลต่อค่าพลังกำลังใจในแผนก R&D ซึ่งการเพิ่มกำลังใจ ช่วยให้การค้นคว้าวิจัย R&D มีโอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นเวลาชั่วคราว

โดยรวมแล้วโหมด Career ค่อนข้างมีรายละเอียดล้ำลึกพอสมควร ถ้าหากเพลเยอร์ชื่นชอบการจัดการอัปเกรด หรือบรรยากาศการแข่งขัน F1 ก็อาจเพลิดเพลินกับโหมดนี้ไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโหมดนี้จะวนลูปอยู่ระหว่างการอัปเกรด R&D > การฝึกฝนทำ Objective ใน Practice Session > Qualifying > แข่งขันจริงจัง แล้วย้อนกลับมาที่การอัปเกรด R&D เหมือนเดิม ทำให้การเล่นเกมในระยะยาวอาจรู้สึกซ้ำซากได้เช่นกัน

เข้าถึงง่ายกว่าเดิมด้วยตัวเลือกการปรับแต่งที่หลากหลาย

Accessibility หรือการเข้าถึงผู้เล่น คือฟีเจอร์เด่นของ F1 2021 ที่มีการอัปเกรดจากภาคเก่าอย่างเห็นได้ชัด โดยภาคนี้จะมีตัวเลือกให้ปรับแต่งเกมเพลย์มากมาย เช่น Race Style ซึ่งมี Preset ให้เลือกระหว่าง Casual > Standard > Expert, ปรับตัวเลขความยากของ AI ระหว่าง 1-120, จำนวน Flashback ที่สามารถใช้งานได้, กฏการแข่งขันเข้มงวดขนาดไหน, ความเสียหายของรถยนต์สมจริงขนาดไหน, น้ำมันรถยนต์ F1 หมดไวแค่ไหน และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยให้เพลเยอร์ทุกคนสามารถปรับแต่งเกมเพลย์ได้ตามที่ตัวเองต้องการ

นอกจากนี้ ผู้เล่นสามารถปรับแต่งเกมเพลย์ของโหมด Career ให้เล่นง่ายหรือยากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนรอบการแข่งขันให้เหมือนกับการแข่ง F1 ในชีวิตจริง, ปิด/เปิดโหมด R&D หรือหากขี้เกียจทำ Objective ใน Practice Session ก็สามารถใช้โหมด Quick Practice ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ AI ช่วยทำ Objective แทนผู้เล่นได้

แต่ถึงอย่างนั้น เราค้นพบว่าการใช้ Accessibility ในโหมด Career ทำให้การเล่นเกมอาจขาดอรรถรสพอสมควร โดยเฉพาะการปิดโหมด R&D ทำให้ผู้เล่นสามารถ Skip ข้ามช่วงเวลา Practice Session และการทำ Objective ได้ ส่งผลให้การเล่นโหมด Career จบเร็วขึ้น หรือการใช้โหมด Quick Practice ก็มีประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับการเล่นด้วยตัวเอง

จากประสบการณ์ส่วนตัวหลังลิ้มลองเกม F1 2021 พบว่าเกมภาคนี้ยังคงรักษามาตรฐานความสนุกได้ดีเหมือนเกมภาคก่อน แต่ตัวเกมเปิดโอกาสให้เพลเยอร์ทั่วไปสามารถเข้าถึงง่ายขึ้นด้วยตัวเลือกปรับแต่ง Accessibility ที่หลากหลายกว่าเดิม ซึ่งหากคุณเป็นแฟนเกมตระกูล F1 หรือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่อยากลิ้มลองเกม F1 เป็นครั้งแรก เรามั่นใจว่าท่านต้องชื่นชอบเกมนี้ได้ไม่ยาก

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top