เกมเมอร์หลายคนเห็นโลโก้ Tose Software ครั้งแรก อาจจะคิดว่าเป็นทีมพัฒนาขนาดเล็ก เน้นสร้างเกมเพื่อการศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่รู้หาไม่ว่า Tose Software นั้น เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่คอยสนับสนุนช่วยสร้างเกมให้ค่าย Nintendo, Konami, Bandai Namco, Square Enix และอื่น ๆ รวมกว่า 2,000 เกม รวมถึงเป็นบริษัทเกมเก่าแก่มีอายุยาวนานแล้ว 41 ปี แต่ทว่าเนื่องจากพวกเขาแทบไม่ได้เครดิตจากการสร้างเกมเลย ทำให้ผู้เล่นหลายคนแทบไม่รู้จักบริษัท Tose เลยแม้แต่นิดเดียว
และนี่คือเรื่องราวของ Tose Software ทีมพัฒนาเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ผู้ช่วยสร้างเกมดังมากมายแต่แทบไม่ได้เครดิต จนได้รับฉายาจากวงการว่า “Ghost Developer”
Tose Software ทีมสร้างเกมที่ได้ฉายาว่า “Ghost Developer”
โลโก้บริษัทเกมรูปต้นไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของ Tose Software
แน่นอนว่าตำนาน “Ghost Developer” ของ Tose Software (จากนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า Tose) ย่อมต้องมีเรื่องราวมาและที่ไป
Tose Co., Ltd. ก่อตั้งบริษัทครั้งแรกในปี 1979 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่จังหวัดเกียวโต โดยผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานบริษัทผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม Toa Seiko Co., Ltd. โดยหลังจากก่อตั้งบริษัทแล้ว พวกเขาเริ่มทำงานด้านการพัฒนากับผลิตอุปกรณ์สำหรับเกมเพื่อใช้ในทางธุรกิจ อย่างเช่น ตู้เกม ตู้ปาจิงโกะ ซึ่งตอนนั้น พนักงานในบริษัทมีจำนวนเพียง 5 คน และผลงานตัวแรกที่พวกเขาภาคภูมิใจ คือการผลิตตู้เกม Space Invaders ฉบับ Cocktail Table ที่ล้ำหน้ามาก่อนกาล
ต่อมาในปี 1983 หลังจาก Tose เริ่มมีประสบการณ์และได้รับการไว้วางใจจากบริษัทเกมบางแห่ง ทาง Tose จึงได้ขยายเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่ขึ้น ด้วยการเริ่มดำเนินแผนพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลเป็นของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม “ด้วยสาเหตุบางอย่าง” ในปีถัดไป ทีมงานได้เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมจากการผลิตเครื่องเกมคอนโซลของตัวเอง กลายเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์และเกมแทน
ปี 1984 บริษัท Tose เข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดรับจ้างให้ช่วยกับสนับสนุนสร้างเกมต่าง ๆ ที่ติดต่อจากทีมตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งโดยตรง ช่วงเวลานั้น Tose ส่วนใหญ่จะรับหน้าที่คอยช่วยสร้างเกมให้เครื่องคอนโซล Famicom (ชื่อ NES ของญี่ปุ่น) ของ Nintendo โดยช่วงปี 1984-1989 ทีมงาน Tose ได้มีผลงานสนับสนุนสร้างเกมไปกว่า 34 เกม ซึ่งมีผลงานเกมเด่น เช่น Dragon Ball: Daimaou Fukkatsu และ Ninja Kid
Dragon Ball: Daimaou Fukkatsu
นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นไป Tose ได้เปิดรับจ้างให้ช่วยเหลือพัฒนาเกมจากค่ายเกมญี่ปุ่นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Sqaure Soft (ปัจจุบันชื่อว่า Square Enix), Capcom, Konami, Namco (ปัจจุบันชื่อว่า Bandai Namco), Nintendo และค่ายอื่น ๆ ล้วนได้ติดต่อถึงทีมงาน Tose เพื่อทำการจ้างแล้วขอความช่วยเหลือในการสร้างเกมให้เครื่องเกมคอนโซลหลายแพลตฟอร์ม โดยทีมงาน Tose ได้มีส่วนร่วมในการสร้างเกมดังหลายตระกูล เช่น Final Fantasy, Metal Gear, Dragon Quest, Resident Evil และ Star Ocean
ปัจจุบัน Tose มีสำนักงานหลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนพนักงานทั้งหมดราว 1,000 คน (มีทั้งพนักงานทั้งวัยผู้ใหญ่กับวัยรุ่น / สถิติจากปี 2015) และมีผลงานช่วยผลิตเกมไปแล้วกว่า 2,000 เกม โดยเป็นเกมคอนโซล 1032 เกม, เกมมือถือ 940 เกม, ตู้เกม 285 เกม และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกจำนวนหลายเกม ซึ่งแน่นอนว่า Tose เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาเกมของญี่ปุ่นที่มีขนาดยักษ์ใหญ่มาก ๆ และที่น่าแปลกใจ พวกเขายังคงเป็นบริษัทเกมอิสระจนถึงทุกวันนี้
ทำไม Tose จึงแทบไม่ค่อยปรากฏตัวในเครดิตวิดีโอเกม
Tose มีผลงานช่วยสร้างเกมดังมามากมาย (ส่วนใหญ่เป็นการพอร์ตเกมต่าง ๆ ลงระบบ Nintendo) แต่ทว่าชื่อบริษัทแทบไม่โผล่ในรายชื่อเครดิตเกมไหนเลย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ทีมพัฒนาเกม Tose ได้รับฉายาว่าเป็น “Ghost Developer” หรือแปลว่า “ทีมพัฒนาเกมผี” ที่ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็นเท่าไหร่นัก แต่ทำไมพวกเขาจึงแทบไม่ได้เครดิตในวิดีโอเกมเลยละ ?
Hayashi นักข่าวเกมจากสื่อ Famitsu ระบุว่าเนื่องจาก Tose ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยพัฒนาเกมที่อยู่ภายใต้สัญญารับจ้างโดยตัวแทนจำหน่าย ดังนั้นทีมงานจึงไม่สามารถนำชื่อบริษัทไปไว้ในเครดิตของเกมได้ เนื่องจากติดสัญญากับลูกค้าของพวกเขา
นอกจากนี้ Tose มีวิสัยทัศน์การทำงานที่ชัดเจน คือพวกเขาต้องการผลิตคอนเทนต์เกมที่มีคุณภาพให้ลูกค้า มากกว่าสนใจในด้านการสร้างชื่อเสียง โดย Masa Agarida รองประธานของ Tose’s U.S. division กล่าวว่า “นโยบายของเราคือไม่ให้มีวิสัยทัศน์ของตัวเอง แต่เราจะปฏิบัติเดินทางตามวิสัยทัศน์ของลูกค้า เราเลือกปฏิเสธไม่ใส่ชื่อบริษัทของเราลงไปในเครดิตเกม แม้แต่ชื่อพนักงานคนเดียว”
Resident Evil Zero เวอร์ชัน GameCube เป็นเกมที่ Tose Software เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างแบบลับ ๆ
CEO Shigeru Saitou และ COO ของ Tose Software Yasuhito Watanabe ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ Famitsu ว่านับตั้งแต่ Tose เริ่มเข้าสู่ธุรกิจวิดีโอเกม พวกเขาได้มีหน้าที่ช่วยสร้างเกมที่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวละคร, สร้างเพลงประกอบ, การดีไซน์เกม, ช่วยแก้ปัญหาโปรเจกต์, การวางแผน, การพอร์ตเกม, ประดิษฐ์ฉากคัตซีน และอื่น ๆ อีกสารพัด
ปัจจุบัน ทีมงานรับจ้างทำสิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเกมด้วย เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ การจำหน่ายสิ่งพิมพ์ดิจิทัล การพัฒนาระบบสำหรับเว็บธุรกิจ และโดยเฉพาะการสร้างแอปพลิเคชันมือถือ ที่ตอนนี้เกมมือถือได้กลายเป็นแพลตฟอร์มเกมที่ทำรายได้สูงกว่าเกม PC และคอนโซลไปแล้ว นอกจากนี้ หากมีเกมไหนที่พัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากทีมพัฒนาได้ปิดตัวอย่างกะทันหัน ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็แล้วแต่ บางครั้ง ทางตัวแทนจำหน่ายเกมจะมอบหมายให้ Tose ได้พัฒนาสานต่อจนเกมเสร็จสมบูรณ์ แล้วกลับมาวางจำหน่ายได้อีกครั้ง
เนื่องจาก Tose เป็นทีมงานเกมที่อยู่ใต้เงามาโดยตลอด Famitsu จึงสอบถาม Saitou เพิ่มเติมว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสถานะบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งเขาได้ตอบกลับว่า แม้ชื่อ Tose จะไม่ค่อยปรากฏตัวในเครดิตเกมต่าง ๆ แต่พนักงานหลายคน ก็ยังคงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับทีมพัฒนาเกมชั้นนำ แล้วได้รับความไว้วางใจจากตัวแทนจำหน่ายเกมหลายแห่ง จนตอนนี้ พวกเขามีผลงานเกมมากกว่า 2,000 เกมไปแล้ว แม้กระทั่งตัว Saitou ซึ่งมีส่วนร่วมช่วยสร้างเกมกว่า 100 เกม ตั้งแต่การเขียนโปรแกรมและแต่งเพลง ก็ไม่คาดหวังว่าชื่อของเขาจะติดอยู่ในเครดิตเกมเช่นกัน
Tose Software คือบริษัทเกมที่ทำเกมได้ทุกแนวอย่างแท้จริง
Tose Software มีอายุยาวนานเกิน 41 ปี และตอนนี้ พวกเขายังคงมีเป้าหมายที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม นั่นคือการมุ่งเน้นช่วยพัฒนาเกมกับซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าต่อไป แม้พวกเขาแทบไม่ได้เครดิต แต่ Tose ก็ยังคงมีชื่อเสียงโด่งดังเฉพาะในกลุ่มนักพัฒนาเกมญี่ปุ่น รวมถึงเป็นที่ไว้วางใจจากค่ายเกมญี่ปุ่นหลายแห่ง จึงไม่แปลกใจว่าทำไม Tose Sจึงได้รับฉายาว่า “Ghost Developer” และฉายาดังกล่าวก็เข้ากับคาแรคเตอร์ของ Tose มากจริง ๆ
แหล่งที่มา: One Million Power, Gamasutra