BY StolenHeart
2 Sep 18 3:12 pm

ระลึกความหลังกับ The House of the Dead ซีรีส์เกมอาร์เคดขวัญใจนักแม่นปืน

85 Views

เชื่อว่าคุณผู้อ่านใน GamingDose หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์เดินเที่ยวห้างและแวะเล่นเกมตู้กันบ้างตามวาระอยู่แล้ว (โดยเฉพาะเกมเมอร์ที่อายุปีนขึ้นเลขสามมาเกินครึ่งอย่างผู้เขียน) สมัยก่อนที่จะเข้าสู่ยุคมืดของเกมตู้บ้านเราสักประมาณปี 1997 – 1999 ช่วงนั้นร้านเกมตู้ต่างคึกคักเต็มไปด้วยเกมใหม่ ๆ ให้เล่นเพียบ อย่างเช่น The King of Fighters ’98, Street Fighter III, Tekken Tag Tournament (ไฟท์ติ้งล้วน ๆ ) และที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือเกมแนวยิงปืนที่มี Virtua Cop ยืนพื้น และ Time Crisis ที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น (เดี๋ยวเก็บไว้เล่าต่อวันหลัง) และถ้าหากพูดถึงเกมยิงปืนหรือ Shooting แนวยิงทุกอย่างที่ขวางหน้า ก็มีอยู่เกมหนึ่งที่ถือว่าติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนอย่างมาก ก็คงหนีไม่พ้น The House of The Dead ที่วันนี้เราจะมาพูดถึงเกมนี้กันครับ


อนึ่ง บทความนี้ไม่ได้เน้นไปที่การเล่าเนื้อเรื่องของเกม แต่จะพูดถึงความรู้สึกที่เคยได้สัมผัสในยุคนั้นและจุดเด่นของเกมว่าเป็นอย่างไร ให้คิดง่าย ๆ ว่าเหมือนเพื่อนมาโม้เรื่องเกมให้ฟังนั่นแหละครับ และจะเน้นไปที่เวอร์ชั่นเกมตู้ เพราะถ้ารวมเวอร์ชั่นอื่นด้วยก็คงจะยาวไปหน่อย แต่จะมีพูดถึงคร่าว ๆ เพื่อให้ซัมซับบรรยากาศในช่วงนั้นกันสักหน่อยครับ

The House of the Dead

สำหรับภาคแรกของเกมยิงแหลกเกมนี้เปิดตัวออกมาอย่างน่าสนใจ จากในสมัยนั้นที่เกมยิงสไตล์อาเคตเต็มไปด้วยเกมยิงคนที่สักแต่ว่าโผล่มาจนเต็มจอ และจะคนหรือผีส่วนใหญ่โดนยิงนัดเดียวก็ดับดิ้นสิ้นชีวากันหมด แถมฉากในเกมส่วนใหญ่ก็จะเป็นเส้นตรงเส้นเดียวกันหมด ดู ๆ ไปแล้วหลายเกมมันก็เหมือนกันหมด แต่การมาของ The House of The Dead นี่แหละที่เปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ไป

ตรงนี้ถ้าช่วยตัวประกันไม่ทัน เราก็จะได้ไปอีกทางหนึ่ง เป็นระบบการเล่นที่แหวกกว่าเกมตู้ทั่วไปในตอนนั้นมาก ๆ

เพราะ The House of The Dead เป็นเกม Shooting ยิงปืนเกมแรก ๆ ที่ใส่ระบบทางแยกแบบที่ไม่ได้โผล่ขึ้นมาให้เลือกแบบโต้ง ๆ ทางที่ผู้เล่นจะได้ไปนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราได้ทำอะไรในเกมตรงนั้นมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นช่วยตัวประกันในจุดนั้นสำเร็จ เกมก็จะพาเราไปจุดนึง หรือถ้าช่วยไม่สำเร็จก็จะไปอีกจุดนึง หรือถ้าหากมือซน ยิงของในฉากแบบบ้าคลั่ง บางทีเกมก็พาเราไปยังเส้นทางลับที่คาดไม่ถึงได้ด้วย

แถมด้วยตัวศัตรูในเกมก็ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์มาก ไม่ได้มีแต่พวกซอมบี้โง่ ๆ เดินมาตบเราอย่างเดียว แถมพวกผีบ้าส่วนใหญ่นี่ก็ยิงนัดเดียวไม่ตาย ต้องซ้ำหลายนัดกว่าจะตาย แม้จะยิงหัวบางทีก็ต้องซัดไปเสียสองสามนัด แล้วก็ยังมีศัตรูหลายประเภท ทั้งแบบตัวใหญ่ถือถังทุ่มใส่ ตัวเล็กว่องไวแถมอึดมาก ที่ถ้าหากไม่แม่นจริงก็เก็บมันได้ลำบาก จัดเป็นเกมที่ท้าทายฝีมือคนเล่นมากในรอบแรก ๆ แถมบางทีกลับมาเล่นก็ดันไปเจอทางใหม่ที่ไม่เคยมาอีก เกิดความรู้สึกสดใหม่เกือบทุกครั้งที่กลับมาเล่นเลย

Magician บอสที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเกมอันเนื่องมาจากความเท่สุดใจ

และที่เป็นเอกลักษณ์มากก็คือเหล่าบอสในเกม ที่จะอิงชื่อตามหน้าไพ่ทาโรต์และมีเอกลักษณ์น่าจดจำอย่างที่สุด โดยเฉพาะบอสประจำเกมอย่าง The Magician ที่มีบทโผล่มาให้เห็นในภาคหลังก็โคตรเท่ แถมยังมีวิธีปราบที่ต้องยิงให้ถูกจุดอ่อนก่อนที่จะโดนโจมตีด้วย สำหรับปี 1996 นี่ถือเป็นเกมยิงปืนที่แหวกออกมาจากเดิมและไม่เหมือนใครในสมัยนั้นทีเดียว
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนน่าจะจำได้คือ เกมภาคแรกเคยถูกพอร์ทลงเครื่อง PC ด้วย สมัยเด็ก ๆ ตอนนั้นใครเอาเกมนี้มาลงในคาบเรียนคอมพิวเตอร์นี่ถือเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้โลกเลยทีเดียว และแน่นอนว่าจะต้องมีหลายคนยื้อแย่งอยากยืมแผ่นกลับบ้านกันแทบจะทั้งนั้นเลยทีเดียว

The House of The Dead 2

ภาคต่อที่ตามมาในปี 1998 แต่ในบ้านเราอาจจะหาตู้เล่นได้ยากสักหน่อยเพราะจะอยู่ตามห้างใหญ่ ๆ อย่าง World Trade Center (หรือห้าง Central World ในปัจจุบัน) หรือเซ็นทรัลบางนา หรือที่อื่น ๆ แล้วแต่บุญแต่กรรม เพราะร้านตู้เกมเจ้าใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Galaxy ไม่ได้นำเข้ามา แต่ถ้าหากได้เจอแล้วเคยได้เล่น เวอร์ชั่นเกมตู้ บอกเลยว่านั้นถือเป็นบุญอย่างมาก เพราะในภาคนี้จัดว่าเป็นภาคที่ก้าวกระโดดอย่างมากในหลาย ๆ อย่าง จนถือว่าเป็นภาคในตำนานเลย

ถึงในยุคนี้จะดูธรรมดา แต่ในสมัยนั้นถือว่าก้าวกระโดดและสวยงามกว่าเกมภาคแรกอย่างยิ่ง

เริ่มอย่างแรกก่อนคือกราฟฟิก ที่ถ้ามาดูในสมัยนี้เราจะเห็นว่ามันห่างไกลกับคำว่าสมจริงไปไกลโขอยู่ แต่ในสมัยนั้นบอกเลยว่าภาพเท่านี้คือสวยมาก ๆ และถ้าหากเทียบกับภาคแรกนี่คือคนละเรื่องเลย ซึ่งตัวเกมใช้กราฟฟิกเอนจิ้น Naomi ตัวใหม่ล่าสุดที่ทำให้สามารถสร้างภาพที่สวยงามออกมาได้อย่างน่าทึ่ง(อีกหนึ่งเกมที่ใช้เอนจิ้นนี้ในสมัยนั้นคือ Dead or Alive 2 และแน่นอนว่าสวยกระโดดมาจากภาคแรกคนละโยชน์เหมือนกัน) สมัยนั้นที่ผู้เขียนได้เห็นภาพของเกมนี้เป็นครั้งแรก บอกเลยว่าทึ่งจริง ๆ

อย่างต่อมาคือเกมการเล่นในภาคนี้ขยับสเกลมาจากคฤหาสน์ทดลองที่มีผีเต็มไปหมด มาเป็นผีดิบบุกเมือง ทำให้หลาย ๆ อย่างมันดูระทึกมากขึ้น ศัตรูก็มีหลายรูปแบบมากขึ้น แถมบอสที่ขนาดใหญ่ขึ้น อลังขึ้นกว่าเดิม ทำให้การต่อสู้ของบอสในเกมมันน่าตื่นเต้นมากขึ้น(แต่คงขอยกเว้นเจ้า Tower ในรอบที่สองเอาไว้หน่อย เพราะตายง่ายเหลือเกิน) แน่นอนว่าระบบทางแยกของเกมก็ยังอยู่เหมือนเดิม และยังแยกย่อยไปได้มากกว่าเดิมอีกหลายชั้น ถือเป็นเกมยิงปืนที่ดีขึ้นกว่าเดิมในหลาย ๆ ด้านกว่าภาคเก่าทีเดียว

หนึ่งในบอสที่ยากที่สุดของภาคนี้ เพราะนอกจากจุดอ่อนจะเล็กแล้ว ยังส่ายไปมายิงยากอีกต่างหาก

น่าเสียดายที่ภาคนี้ตั้งอยู่ให้เล่นไม่ค่อยนานนัก เพราะหายไปก่อนเวลาอันควรเนื่องจากการกวาดล้างตู้เกมต่าง ๆ ในยุคนั้น แต่ก็ยังดีที่มีการพอร์ทเกมลงในเครื่อง PC ที่ทำให้ชาวไทยหลายคนพอจะหามาเล่นกันได้บ้าง แถมในเวอร์ชั่น PC จะมี Original Mode ที่เก็บสะสมไอเท็มแปลก ๆ เอาไว้ใช้ในเกมได้เยอะมาก เช่นเปลี่ยนโมเดลผู้เล่น ปืนพิเศษและอื่น ๆ ที่มีให้เลือกเล่นเพียบ แถมหลังจากนี้ก็มีเกมภาคพิเศษในชื่อ The Typing of the Dead ทีเปลี่ยนจากเล็งปืนเป็นการพิมพ์ดีดแทน สร้างสรรค์สุด ๆ

The House of The Dead III

ภาคนี้กว่าที่คนไทยเราจะได้สัมผัสกับของแท้ก็ใช้เวลานานพอสมควรเหมือนกัน และเป็นภาคแรกที่เปลี่ยนจากปืนพกแบบ Light Gun ที่ทาง Sega ใช้กับเกมของตัวเองมานานให้มาเป็นปืนลูกซองแทน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จริง ๆ (กับขนาดของปืนที่ใช้) แต่ก่อนหน้าที่ชาวไทยจะได้ลองของจริง ก่อนหน้านี้ก็มีเวอร์ชั่นตู้ปลอมที่ใช้ไส้ในเป็นเครื่อง Xbox ออกมาวางตามห้างทั่วไป และมีวิธีการเล่นต่างกับเวอร์ชั่นเกมตู้จริง ๆ พอสมควร เช่นการรีโหลดกระสุนที่ใช้เวลาไม่เท่ากัน และนั้นก็ทำให้ความยากของเกมต่างกันพอควร และเรื่องของคำหยาบเซ็นเซอร์ ที่เวอร์ชั่นคอนโซลจะจัดเต็มกว่ามาก

ส่วนการเล่นอื่น ๆ ก็ถือว่าคล้ายคลึงการภาคที่แล้ว แต่จะต่างกันตรงที่การช่วยตัวประกันจะเป็นการช่วยเพื่อนร่วมทางตามที่เกมกำหนดไว้ ทำให้ดูแห้งแล้งไปหน่อย ส่วนเรื่องทางแยกเกมจะให้เราเลือกเองเลย ไม่ได้เป็นทางแยกตามที่ผู้เล่นกระทำในเกมแทน แม้จะเป็นภาคที่ไม่ได้เลวร้าย แต่ก็ลดความประทับใจมาจากภาคสองพอสมควรอยู่

The House of The Dead 4

ภาคนี้น่าจะเป็นภาคที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้เล่นกัน หรือไม่ก็ต้องเห็นผ่านตาเวลาเดินห้างกันแน่นอน เพราะช่วงที่ภาคนี้เข้ามาเป็นช่วงที่ตลาดเกมตู้กลับมามีความคึกคักมากขึ้นแล้ว ทำให้หาเล่นเกมนี้ได้ไม่ยากเย็นนัก(แต่คุณภาพของตู้ก็ต้องไปวัดดวงกันเองอีกที) ภาคที่สี่นี้จัดเป็นภาคที่ผู้เขียนเล่นบ่อยที่สุดภาคหนึ่ง เพราะเนื่องจากการเล่นรอบนึงจนจบเกมค่อนข้างจะคุ้มเงินยี่สิบบาทพอสมควร(ความยาวที่จะเล่นจบรอบนึงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 – 20 นาที ไม่นับรวมฉากคัตซีน) ทำให้เหมาะกับการมาเล่นรอเวลากินข้าวกับเพื่อนพอสมควร และระบบของเกมก็ค่อนข้างจะพัฒนามาจากภาคที่แล้วเยอะมากทีเดียว

และถึงแม้เส้นทางจะค่อนข้างตรงแหน่วและมีทางแยกให้เลือกแค่ครั้งเดียวในแต่ละฉาก แต่ในฉากก็มีลูกเล่นให้เลือกยิงเลือกเล่นมากกว่าภาคเก่าเอาเรื่องอยู่ เช่นการยิงตัดสลิงของลิฟท์ให้ศัตรูตกลงไปตายแบบไม่ต้องเปลืองเวลา หรือยิงช่องลับเพื่อเปิดเอาไอเท็มลับที่ซ่อนอยู่ออกมาได้ด้วย จัดเป็นภาคที่เล่นสนุกมากภาคหนึ่งเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้ก็คือ The House of The Dead ทั้งสี่ภาคที่ผู้เขียนเคยได้สัมผัสแบบเวอร์ชั่นเกมตู้ และเชื่อว่าหลายคนน่าจะรอคอยอยากเล่นภาคต่อของเกมนี้กันอยู่บ้างแน่นอน แต่ภาคล่าสุดอย่างภาคที่ห้านั้นก็ยังคงไม่มาให้เราได้เล่นกัน แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เล่นเกมนี้กันบนคอนโซลหรือ PC กันก็เป็นได้นะครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top