BY Chaiyawut "Aquamarine" Keereeto
4 Aug 19 8:19 pm

มินิเกมที่สนุกจนไม่อยากหยุดเล่น

311 Views

มินิเกมเป็นคำที่คุ้นเคยกันดีสำหรับเกมเมอร์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นองค์ประกอบที่พบได้บ่อยครั้งในเกมหลากหลายประเภท มินิเกมคือเกมที่เป็นระบบย่อยภายในเกมอื่น บางครั้งก็แตกต่างจากไประบบของเกมหลักโดยสิ้นเชิง บางครั้งก็ยังอิงระบบของเกมหลักแต่แยกจากเนื้อหาหลัก

สิ่งที่เรียกว่ามินิเกมนี้ถูกนำไปใช้ในหลายลักษณะ ตั้งแต่การเพิ่มความหลากหลายให้กับเกมการเล่นเพื่อความไม่จำเจ บางครั้งก็ใช้เพื่อท้าทายและทดสอบความสามารถผู้เล่นสำหรับการทำอะไรบางอย่างในเกม (เช่น ระบบแฮ็กในเกมอย่าง Bioshock หรือ Fallout) และบางครั้งก็มีไว้เหมือนเป็นส่วนเสริมที่เพิ่มคุณค่าโดยรวมของเกม

แต่บางครั้ง มินิเกมกลับมีความสนุกและมีเสน่ห์ดึงดูดทำให้ผูเล่นอยากเล่นมินิเกมเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง มาดูกันว่าบางส่วนของมินิเกมสนุก ๆ ที่พูดถึงมีอะไรบ้าง

Gwent (The Witcher 3: Wild Hunt)

ในหมู่เกมเมอร์ คงแทบไม่มีใครไม่รู้จัก Geralt of Rivia หมาป่าเฒ่าแห่งซีรีส์ The Witcher เพราะเป็นเกมแนวแอคชันสวมบทบาทในโลกที่ค่อนข้างเปิดกว้างและอยู่ยงคงกระพันมานานถึง 3 ภาคด้วยคุณภาพที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับการยอมรับจากเกมเมอร์ทั่วโลก

ใน The Witcher 3: Wild Hunt ซึ่งเป็นภาคล่าสุดได้ยกระดับให้ซีรีส์นี้กลายเป็นเกมฟอร์มยักษ์ที่สร้างยอดขายได้สูงอย่างเต็มภาคภูมิ ได้มีการนำเกมการ์ดในชื่อ Gwent ใส่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกของเกมนี้ด้วย

Gwent เกมแนว Trading Card ที่จำลองการรบพุ่งกันระหว่างสองฝ่าย (ผู้เล่นสองคน) โดยใช้การ์ดที่จัดไว้แทนกองทัพ กองทัพที่เลือกเล่นได้มีด้วยกัน 4 ฝ่ายซึ่งมีรูปแบบและสไตล์ที่ต่างกันออกไป รวมถึงมีการ์ดความสามารถและคาถาต่าง ๆ เอาไว้เสริมกำลัง ทำให้ Gwent มีคอมโบและกลยุทธ์มากมายหลากหลายในการเอาชนะคู่ต่อสู้

ถึงจะเป็นเกมการ์ดแนวการรบที่มีกลยุทธ์มากมายแต่ Gwent กลับมีเกมการเล่นที่ฉับไวไม่น่าเบื่อ เล่นแล้วสนุกจนผู้เล่นติดกันงอมแงม เลยกลายเป็นว่านักล่าปีศาจ Geralt ไม่สนใจสถานการณ์โลกและเควสมากมายที่รออยู่ แต่กลับใช้เวลาออกตามล่าสะสมการ์ดดี ๆ และการ์ดหายากเพื่อมาจัดชุดแล้วใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดหมกตัวอยู่ในร้านเหล้าเพื่อประลองฝีมือกับนักเล่นการ์ดทั่วแว่นแคว้น

Gwent ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจนได้มีเกมแยกเป็นของตัวเองในชื่อ Gwent: The Witcher Card Game กันเลยทีเดียว

Light Cycle (Tron 2.0)

Tron 2.0 เป็นเกมเดินยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งแนวไซไฟที่ออก Cyberpunk เล็ก ๆ ซึ่งมีเนื้อหาต่อเนื่องจากภาพยนตร์ Tron ที่ออกฉายในปี 1982

เนื้อหาของ Tron คือเมื่อบริษัทคอมพิวเตอร์พบปัญหา AI ที่พัฒนาตัวเองจนคิดยึดครองอำนาจ บรรดาผู้พัฒนาจึงหาทางหยุดยั้งแต่ก็ถูกขัดขวางและถูก Digitize เพื่อแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลแล้วส่งเข้าไปในไซเบอร์สเปซ (หายเข้าไปทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะจิตแบบ The Matrix) จึงกลายเป็นเรื่องราวการผจญภัยสุดล้ำเพื่อกำราบ AI ตัวร้าย

ในภาพยนตร์ มีเกมอาร์เขดที่ชื่อ Light Cycle ซึ่งเป็นการขับมอเตอร์ไซค์ดิจิตอลที่ทิ้งแสงเป็นเส้นยาว ๆ ตามหลังแล้วห้ำหั่นกันว่าใครขับชนจนต้องแพ้ไปก่อน (แบบเดียวกับเกม slither.io แต่มี 4 ทิศคือขึ้นลงซ้ายขวา) และเมื่อตัวเอกหลุดเข้าไปในโลกดิจิตอลก็ถูกส่งเข้าไปเล่นเกมนี้ในฐานะตัวละคร เป็นฉากสุดล้ำตระการตาในยุคนั้น

เกม Tron 2.0 (วางจำหน่ายในปี 2003) นอกจากจะเป็นเกมที่เล่นสนุก มีอาวุธหลากหลายเป็นเอกลักษณ์น่าสนใจและมีการอัพเกรดความสามารถได้ (FPS ในยุคนั้นไม่ค่อยมีระบบแบบนี้) ก็มี Light Cycle เช่นกันแต่ได้รับการยกเครื่องใหม่ให้ดูทันสมัยและน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น รวมถึงมีลูกเล่นใหม่ ๆ อย่างการเก็บไอเท็มเพื่อเพิ่มระยะของแสงทิ้งเป็นหางเอาไว้ได้ด้วย

ในโหมดเนื้อเรื่องมีฉากที่ต้องขับ Light Cycle อยู่หลายครั้ง และเป็นอีกช่วงเวลาที่สนุกตื่นเต้นและท้าทายจนอยากจะเล่นอีกหลาย ๆ รอบ น่าเสียดายที่ไม่สามารถกลับไปเล่นซ้ำ แต่ก็โชคดีที่ Light Cycle เป็นโหมดมัลติเพลเยอร์ของเกมนี้ ทำให้คนที่ยังไม่หายสนุกสามารถเข้าเล่นแข่งกับเพื่อนได้ด้วย

Triple Triad (Final Fantasy VIII)

FF8 เป็นอีกหนึ่งในตำนานของ Final Fantasy ซึ่งเป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจเป็นวงกว้างแม้แต่กับคนทั่วไปเมื่อวางจำหน่าย (ในขณะที่ FF7 ได้รับความสนใจจากเกมเมอร์เป็นหลัก) ด้วยกราฟฟิกที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น บวกกับการออกแบบตัวละครหน้าตาหล่อสวยแบบจับต้องได้ (หมายถึงไม่ใช่หล่อสวยแบบเหลี่ยม ๆ) และฉาก CGI สุดอลัง

ระบบการเล่นและเนื้อหาของ FF8 ก็นับว่ามีความน่าสนใจและเล่นได้สนุกไม่แพ้เกมก่อนหน้าในซีรีส์ โดยเกมนี้มาพร้อมกับมินิเกมแนว Trading Card ที่ชื่อว่า Triple Triad ซึ่งใช้ตัวละครและศัตรูในเกมเป็นธีม (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครไม่รู้สึกอะไรกันมั่งเหรอที่เห็นหน้าตัวเองอยู๋บนการ์ด)

เกม Triple Triad เป็นการแข่งกันระหว่างผู้เล่นสองคนบนกระดานที่มีขนาด 3×3 เลือกการ์ดของตัวเองมาคนละ 5 ใบ ผลัดกันวางการ์ดลงบนกระดานเพื่อจับการ์ดของฝ่ายตรงข้ามโดยดูจากค่าตัวเลขของทิศทางที่การ์ดชนกัน (ค่าพลังของการ์ดมี 4 ค่า บน ล่าง ซ้าย ขวา) เมื่อจบเกมแล้วใครครอบการ์ดได้มากกว่าจะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ และจะสามารถเลือกการ์ด 1 ใบ (หรือมากกว่า) จากชุดการ์ดของผู้แพ้ได้

นอกจากนี้ยังมีการสุ่มธาตุบนกระดาน ทำให้การ์ดที่มีธาตุตรงกันได้โบนัสค่าพลัง และในการแข่งกับคู่ต่อสู้ในบางพื้นที่จะมีการเพิ่มกฎพิเศษ เช่น บังคับสุ่มการ์ดทำให้ทั้งสองฝ่ายเลือกการ์ดเองไม่ได้ หรือบังคับให้ทั้งสองฝ่ายเปิดหน้าการ์ดไว้ขณะเล่น

แม้จะดูเป็นเกมง่าย ๆ แต่ด้วยการพลิกแพลงวางแผน รวมถึงกฎพิเศษต่าง ๆ ที่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายก็ทำให้ Triple Triad เป็นมินิเกมที่เล่นสนุกเพลิดเพลิน จนบางคนถึงขั้นตามล่าหาการ์ดระดับหายากทุกใบในเกม (รวมถึงเซฟและโหลดใหม่เมื่อต้องเสียการ์ดดี ๆ เวลาแพ้ 555)

Triple Triad ยังไปโผล่เป็นมินิเกมใน Final Fantasy XIV: A Realm Reborn และ Final Fantasy Portal App อีกด้วย

ขุดหาของ (Ōkami)

Ōkami เป็นเกมแอคชันผจญภัยที่ยอดเยี่ยมบนเครื่อง PS2 ผลงานของค่าย Clover Studio ซึ่งมีผู้พัฒนาระดับแนวหน้าอย่าง Hideki Kamiya และ Shinji Mikami อยู่เบื้องหลัง

เนื้อหาของ Ōkami เกี่ยวกับหมาป่าสีขาวชื่อ “อามาเทราสึ” ที่มีพลังของเทพซึ่งถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากการหลับใหลเพื่อปกป้องดินแดนนิปปอนให้พ้นจากอำนาจของปีศาจอันแสนชั่วร้าย กราฟฟิกเป็นแนวศิลป์เหมือนใช้พู่กันและมีระบบกรเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนท่าพู่กันสวรรค์ซึ่งเป็นการตวัดลายเส้นก่อให้เกิดพลังควบคุมธาตุหรือความเสียหายต่อศัตรูได้

Ōkami เป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องน่าสนใจและระบบการเล่นที่สนุก โดยเฉพาะการผสมผสานคอมโบการโจมตีและกระบวนท่าพู่กันสวรรค์เข้าด้วยกัน ถึงอย่างนั้น Ōkami ก็มีมินิเกมให้เล่นอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นมินิเกมขุดหาของ

มินิเกมขุดหาของจะตัดจากฉาก 3D ปกติของเกมไปเป็นฉากแบบ 2D ที่มองจากด้านข้าง แล้วผู้เล่นจะต้องควบคุมอามาเทราสึเพื่อขุดสร้างเส้นทางหา “เพื่อน” ที่กำลังจะขุดหาอะไรบางอย่างไปถึงที่หมายซึ่งอยู่ลึกลงไปด้านล่างให้ได้อย่างปลอดภัย นอกจากการขุดกับการพุ่งชนที่เป็นมาตรฐานแล้ว อามาเทราสึยังสามารถใช้พู่กันสวรรค์ร่วมได้ด้วย

การผสมผสานความสามารถทั้งหมดของอามาเทราสึเพื่อแข่งกับเวลาท่ามกลางความรู้สึกห่วงหน้าพะวงหลังว่าเพื่อนจะเป็นอันตรายหรือไม่และดนตรีประกอบแนวญี่ปุ่นที่แสนเร้าใจ ทำให้มินิเกมนี้สนุกและท้าทายจนอยากจะเล่นอีกหลาย ๆ รอบ น่าเสียดายที่ตลอดทั้งเกมมีให้เล่นแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

สารพัดมินิเกม (Plants vs. Zombies)

Plants vs. Zombies เป็นเกมแคชวลแนว Tower Defense ของค่าย PopCap Games ด้วยระบบที่เข้าใจง่าย กราฟฟิกแนวการ์ตูน การออกแบบที่ดูน่ารัก และเนื้อหาขบขันเบาสมองทำให้เกมนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนจำนวนมากทั่วโลก

ใน Plants vs. Zombies ผู้เล่นจะต้องปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นอาวุธรับมือกับซอมบี้ที่พยายามบุกเข้าบ้าน โดยต้นไม้ก็มีหลายชนิดและมีหน้าที่กับจุดเด่นแตกต่างกันออกไป ต้นไม้แต่ละอย่างสามารถใช้รับมือกับซอมบี้แต่ละชนิดได้ต่างกัน

หลังจากผู้เล่นอิ่มเอมกับการเล่นจนจบโหมดเนื้อเรื่องแล้ว Plants vs. Zombies ก็ยังไม่ยอมจบแค่นั้น แต่นำเสนอโหมดอื่น เช่น โหมดมินิเกม โหมดพัซเซิล โหมด Survival และ Zen Garden

โหมดมินิเกมเต็มไปด้วยโหมดเกมแปลก ๆ มากกว่า 20 โหมดที่ต่างจากระบบเกม หลายโหมดได้รับแรงบันดาลใจหรือเอาระบบมาจากเกมอื่น ๆ ของค่าย PopCap Games เองอย่างเช่น Bejeweled หรือ Insaniquarium

โหมดพัซเซิลมี 2 โหมดย่อย อย่างแรกคือให้ผู้เล่นทำลายไหเพื่อปล่อยซอมบี้หรือต้นไม้ออกมาแล้วหาทางจัดารกซอมบี้ให้หมด และอย่างที่สองคือให้เปลี่ยนมาปล่อยซอมบี้บุกเข้าบ้านแทนแต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นไม่จึงใช้หุ่นกระดาษแทนต้นไม้จริง (เกมในโหมดพัซเซิลสามารถจัดเป็นมินิเกมได้เช่นกัน)

ด้วยความสร้างสรรค์หลากหลายจากระบบเกมพื้น ๆ ทำให้ Plants vs. Zombies เป็นเกมที่สามารถกลับมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้หลายรอบเป็นเวลานานโดยเฉพาะโหมดมินิเกมที่มีอะไรให้เล่นเยอะแบบไม่จำเจ บางครั้งก็สนุกจนลืมเวลา

Chaiyawut Keereeto

Back to top