เมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างที่กำลังไถฟีดโซเชียลอย่างเพลิดเพลิน ผมก็พบเข้ากับคลิปเกม Valorant คลิปหนึ่งโดยบังเอิญ ในคลิปฉายภาพนาทีที่เข้มข้นที่สุดในรอบการเล่นนั้น
ผู้เล่นคนหนึ่งกำลังเข้าตาจนเมื่อเพื่อนร่วมทีมทุกคนล้มไปแล้ว เขาต้องรับมือกับศัตรูที่ยังเหลืออีกถึง 3 คน ทั้งยังต้องทำภารกิจวาง Spike ให้ได้ในเวลาที่งวดเข้ามาทุกที ทว่าเขากลับไม่มีอาการร้อนรน เขาล้มศัตรู 2 คนอย่างใจเย็น ก่อนจะวาง Spike ในมุมที่เหมาะเจาะ จากนั้นก็สแกนหาศัตรูด้วยสกิลของ Sova แล้วจัดการฝ่ายตรงข้ามอีกคนที่ใช้กำแพงไฟบังสายตาหวังบุกเข้ามาด้วยการยิงแบบ pre-fire ลีลาของนักแข่งคนนี้ช่างเยือกเย็น แต่สิ่งที่ทำให้ผมหนาวไปกว่านั้นก็คือเพลเยอร์ที่เห็นตรงมุมจอเป็นคุณลุงท่าทางสงบเสงี่ยมเรียบร้อยท่านหนึ่ง คุณลุงท่านนี้เป็นนักกีฬาในสังกัด Matagi Sniper จากประเทศญี่ปุ่น
ชื่อ Sniper นี่ยังพอเข้าใจ แต่ทำไมต้องเป็น Matagi ด้วยเล่า
คำถามนี้นำไปสู่การค้นคว้าสนุก ๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราอยากจะเอามาแชร์ให้ชาว GamingDose ได้อ่านกัน
‘มาตากิ’ กลุ่มพรานโบราณแห่งแดนเหนือ
มาตากิ หรือ มาตางิ เป็นคำที่ใช้เรียกพรานป่าโบราณซึ่งอาศัยอยู่ในแถบภูมิภาคโทโฮคุ (ตอนเหนือของญี่ปุ่น) บริเวณระหว่างจังหวัดอาคิตะกับอาโอโมริ รากศัพท์ของคำว่ามาตากิ มาจาก ‘matangi’ ในภาษาไอนุ หมายถึง กลุ่มพรานฤดูหนาว ทำให้ภาษาหรือคำเฉพาะที่ใช้กันในหมู่พรานมาตากิมักจะมีภาษาไอนุปนอยู่ด้วย ตามหลักฐานที่หาได้ในปัจจุบัน
ไม่มีการระบุชัดเจนว่าวัฒนธรรมของมาตากิเริ่มต้นขึ้นตอนไหน แต่มีหลักฐานว่าพรานล่าหมีกลุ่มนี้ปรากฏตัวในประวัติศาสตร์ช่วงราวศตวรรษที่ 16 เอกลักษณ์เฉพาะตัวของนายพรานกลุ่มนี้คือพวกเขามักจะล่ากันเป็นกลุ่มอย่างมีระบบ และล่าโดยคำนึงถึงสมดุลของธรรมชาติด้วยความเคารพเสมอ เรื่องนี้สะท้อนผ่านความเชื่อในเทพธิดาแห่งภูเขา ‘นิกโกะ’ และบทสวดส่งวิญญาณหมีที่พวกเขาล่ามาได้
“จงกำเนิดใหม่ในภพภูมิหน้า และสดับรับฟังเพียงสิ่งดีงาม”
‘ล่าเป็นทีม’ กลยุทธ์สุดแกร่งตั้งแต่ครั้งโบราณ
สิ่งหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาพูดเสมอเมื่อมีการพูดถึงพรานมาตากิ คือกลยุทธ์การล่าเป็นทีมของพวกเขา เมื่อระบุตัวเหยื่อได้ “มุไคมัตเตะ” พรานที่มีหน้าที่ควบคุมการล่าจะมอบหมายงานให้สมาชิกคนอื่น ๆ พราน 2 คนที่ถืออาวุธปืนจะมีชื่อตำแหน่งว่า “มุตสึไม” ส่วนพรานผู้ทำหน้าที่ต้อนสัตว์และไม่ถือปืน เรียกว่า “เซโกะ”
เทคนิคการล่าคร่าว ๆ ของพรานมาตากิคือ กระจายตัวไปล้อมเหยื่อเอาไว้โดยให้คนสั่งการยืนบนตำแหน่งสูงที่สุด เซโกะทั้ง 2 คนจะต้อนให้สัตว์เข้าตำแหน่งจู่โจมด้วยการร้องตะโกน จากนั้นมุตสึไมที่ซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนก็จะออกมาปิดงาน ถึงจะฟังดูเหมือนเรียบง่ายแต่หากจะให้กลยุทธ์นี้มีประสิทธิภาพก็ต้องอาศัย ‘ความประสบการณ์ ภูมิปัญญา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการสื่อสารที่ดีระหว่างสมาชิก’
ใช่แล้ว มันคือชุดทักษะเดียวกันกับอีสปอร์ตนั่นแหละ
จากล่าหมีล่ากวาง สู่ลากหัวคม ๆ
ปัจจุบันสถานะของพรานมาตากิในสังคมญี่ปุ่นนับว่าไม่สู้ดีนักในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ป่าหดหายจากอตสาหกรรมการเกษตร จำนวนสัตว์ป่าที่ลดน้อยลง (จำนวนหมีสีน้ำตาลลดน้อยลงจนอยู่ในสถานะเฝ้าระวังการสูญพันธ์ ส่วนเลียงผาญี่ปุ่นในแถบนั้นถูกขึ้นทะเบียนสัตว์คุ้มครอง) รวมไปถึงเรื่อองการเสื่อมถอยของจำนวนสมาชิกรุ่นใหม่ ทำให้อายุเฉลี่ยของพรานมาตากิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว
แต่แล้วภาพจำของพรานเฒ่าล่าสัตว์ก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อมีการตั้งทีม Matagi Snipers ขึ้นมาในปี 2021 โดยมีฐานอยู่ที่จังหวัดอาคิตะซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่อายุเฉลี่ยของประชากรสูงสุดในประเทศ
จุดมุ่งหมายในการตั้งทีมนี้ขึ้นมาคือ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดูแลสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมในวัยชรา นอกจากนี้ยังมีสโลแกนขำ ๆ ว่า “ให้คนรุ่นหลานต้องยกมือไห้ว” (Respected by Our Grand Children) สื่อถึงความพยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ โดยเริ่มต้นจากเกมยิงยอดนิยมในญี่ปุ่นอย่าง Apex Legends และ Fortnite ก่อนที่จะขยับขยายมายัง Valorant
ปู่อะแก่แล้วนะ แต่ปู่ยังเข้มแข็ง!
ข้อมูลที่น่าตกใจไม่แพ้ฝีไม้ลายมือบนสนามการแข่งขันก็คืออายุเฉลี่ยของสมาชิกในทีม Matagi Snipers อยู่ที่ 67 ปี และผู้เล่นที่อาวุโสสุดในทีมมีอายุถึง 75 ปี เกณฑ์อายุของผู้เล่นตัวจริงในทีมถูกกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ที่ 65 ปี ซึ่งหมายความว่า สมาชิกที่อายุน้อยกว่าจะจะถูกจัดเป็นผู้เล่นระดับจูเนียร์ (!?)
ใครที่สนใจอยากไปดูลีลาการล่าของพรานเฒ่าไซเบอร์กลุ่มนี้ก็ลองตามไปดูกันได้ที่ https://www.twitch.tv/matagisnipers หรือ https://www.youtube.com/@MATAGISNIPERS กันได้เลย รับประกันความว้าวจริง ๆ
บทความโดย
‘สมโอ๊ต’ สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
มีประสบการณ์เล่นเกมแบบไม่จริงจังกว่า 30 ปี ชอบใช้จอยเล่นเกมยิง รักภาพยนตร์แต่ไม่ค่อยออกจากบ้าน และเป็นนักตกกุ้งมือสมัครเล่น