BY Nattapit Arsirawatvanit
7 May 18 4:29 pm

ไขปริศนา Reboot Remake Remaster ต่างกันอย่างไร

364 Views

ในช่วงนี้มีเกมเก่า ๆ ที่ถูกนำมาทำใหม่ค่อนข้างจะเยอะ ตั้งแต่ซีรี่ส์ระดับกลาง ๆ ยันสูง ๆ ก็ถูกประกาศนำมาสร้างใหม่บ้าง รีบูทบ้างอะไรบ้าง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ มันจะมีศัพท์เฉพาะอยู่ 3 คำ คือ Reboot Remake Remaster ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่ามันคืออะไร เห็นเกมเกมหนึ่งรีหลายครั้งมากก็นึกว่ามันก็คล้ายกัน แค่ใส่คำศัพท์ให้ดูใหม่เท่านั้น จริง ๆ มันมีความแตกต่างกันอยู่ และเราจะมาอธิบายกันในบทความนี้ครับ

Remaster – ปรับปรุงให้สดใหม่

ถ้าเปรียบกับการทำอาหาร Remaster ก็เหมือนการนำอาหารจานเก่า มาเพิ่มเครื่องปรุง ปรับนั่นปรับนี่ให้เข้าที่ เกมก็เช่นกัน Remaster เป็นการ “ปรับปรุง” สภาพเกมโดยรวมแบบที่ไม่ให้มีปัญหากับเนื้อหาหลักในเกม หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นการปรับปรุงแค่ส่วนที่สำคัญ เช่น กราฟิก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ รีมาสเตอร์นี่รวมถึงเรื่องเนื้อหาบางอย่างด้วย ที่เห็นชัด ๆ คือการรีมาสเตอร์เกมสมัยก่อน ถ้าใครยังจำได้ FFVI เคยรีมาสเตอร์มาลง GBA แล้วเพิ่มฟังก์ชั่นหลาย ๆ อย่างที่ไม่มีในตัวเกมออริจินัลลงมาในเกมด้วย นั่นแหละคือรีมาสเตอร์

ในวงการอื่น

เราจะได้ยินคำว่า Remaster บ่อย ๆ ในวงการเพลง เมื่อก่อนมันหมายถึงการนำเพลงฮิตมายัดอัลบั้มจนกลายเป็นอัลบั้มใหม่ ในนาม “รวมฮิต” อะไรแบบนี้ แต่ ณ ตอนนี้มันคือการนำแทร็คนั้น ๆ มาปรับปรุงให้เป็นอิเล็กทรอนิคส์ อาจจะมีการปรับแต่งเสียงบ้างให้ดูดีกว่าในสมัยก่อน

ส่วนในวงการหนังและซีรี่ส์ก็คล้าย ๆ กัน คือปรับปรุงภาพให้คมชัดขึ้น สามารถดูได้ในความละเอียด Full HD, 4K อะไรก็ว่าไป ใครอยากได้ตัวอย่างก็ลองไปดู Dr.Who ช่วงซีซั่นแรก ๆ หรือไม่ก็ The X-File เวอร์ชั่นฉายทีวีกับเวอร์ชั่น iflix ดู ความชัดต่างกันคนละเรื่องเลยทีเดียว

Remake – สร้างใหม่

เป็นอีกขั้นของการนำของเก่ามาหากิน Remake เหมือนเป็นการใช้โครงสร้างเดิมของเกมเก่า เช่น บท เนื้อหา ตัวละคร แต่จะเริ่มการพัฒนาตัวเกมใหม่ทั้งหมด คือจะไม่นำโมเดลเดิมมาใช้ เอนจิ้นเดิมมาใช้ หากใครคิดภาพไม่ออกให้คิดถึง FFVII Remake ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา นั่นแหละคือรีเมคของแท้ คือเหมือนสร้างเกมใหม่เลย แค่ตัวละครและเนื้อหาเหมือนเดิมเท่านั้น

ในวงการอื่น

Remake ในวงการอื่นจะแตกต่างจากเกมตรงที่ จะสร้างเนื้อหาใหม่ก็ได้ แต่จะดำรงไว้ซึ่ง Fact ที่ของจริงเคยทำไว้ ยกตัวอย่างเช่น ละครหรือภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม ที่มี Fact ว่าโกโบริมันต้องตายในตอนจบ ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักยังถูกเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

Reimagine หรือ Renovate ก็อยู่ในประเภทเดียวกับ Remake เหมือนกัน ส่วนมากจะเจอในการทำหนังหรือเกมจากนิยาย มันคือการ “ตีความใหม่” ของนิยายหรือวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็คงเป็น The Wizard of Oz วรรณกรรมเยาวชนยอดนิยมขึ้นหิ้งของเด็กยุโรป ที่ถูกนำมา Renovate ให้กลายเป็นซีรี่ส์สงครามชื่อ Emerald City เนื้อหาในซีรี่ส์ใช้แค่ Lore โดยรวมกับตัวละครหลักเท่านั้น สิ่งอื่น ๆ ในวรรณกรรมถูกแปลงและบอกเล่าออกมาผ่านสัญลักษณ์แทน ทำให้วรรณกรรมอ่านสนุกของเด็กกลายเป็นสงครามชิงไหวชิงพริบที่สนุกจนคาดไม่ถึง (เสียดายถูกแคนเซิลซีซั่น 2 ไปละ)

Reboot – เริ่มใหม่ทุกอย่าง แม้แต่เนื้อหา

ขั้นสุดของการเปลี่ยนแปลง คราวนี้ไม่ได้เพิ่มลดอะไร ไม่ได้ปรับปรุงเอนจิ้นที่ใช้สร้างเกม แต่เปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่ต้นเลย อาจจะใช้ตัวละครเดิมบ้าง โครงสร้างเนื้อหาเดิมบ้าง แต่ทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม ยกตัวอย่างเช่น Tomb Raider ที่แฟรนไชส์เก่าตัวละคร Lara Croft จะค่อนข้างดูเป็นผู้หญิงเท่ ดูเป็นเจ้าแม่ แต่ในเวอร์ชั่นล่าสุด Lara จะกลายเป็นสาวที่ดูหวาน ๆ ธรรมดา แต่มีความแกร่งในด้านจิตวิญญาณแทน นอกจากนี้เนื้อหาก็ยังไม่เหมือนกัน การผจญภัยก็คนละที่ แยกเป็นจักรวาลคนละจักรวาลกันกับเกมต้นฉบับเลย

ในวงการอื่น

Reboot หมายถึงคอมพิวเตอร์ที่เปิดใช้งานอีกครั้งหลังรีสตาร์ทเสร็จสิ้น อ้าว ! ไม่ใช่หรอ โทษ ๆ

แต่ก็นั่นแหละ ความหมายมันหมายความตามนั้นจริง ๆ แต่ในแง่ของสื่อที่เราเข้าใจ มันหมายความว่าการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ซักอย่างนึง ในวงการภาพยนตร์ก็เหมือนกับเกม การ Reboot คือการเริ่มต้นเนื้อหาใหม่ของจักรวาลนั้น ๆ เลยตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น Mummy ของ Universal ที่ออกมาแล้วหลายภาค พอจะทำใหม่จากของเดิมมันก็จะรู้สึกตัน ๆ ก็เลย Reboot มันเสียเลย ก็กลายเป็นหนัง Mummy ภาคล่าสุดที่เราได้ดูกันนี่แหละ

ส่วนในวงการเพลงนี่ไม่รู้ว่าการ Mixtape หรือการ Remix นับว่าเป็นการ Reboot ได้ไหม คือมันไม่สามารถแบ่งประเภทได้จริง ๆ ว่าสองแบบนี้อยู่ในขอบเขตไหน Mixtape คือการทำเพลงของแรพเพอร์คนยาก ที่ไม่ค่อยจะมีพรรคพวกมานั่งกดบีทให้ ซึ่งจะเป็นการนำทำนองของเพลงต่าง ๆ มาใช้ แล้วก็เขียนเนื้อใหม่เลย ส่วน Remix จะเป็นการปรับเปลี่ยนจังหวะ Timing ของเพลง อาจจะมีการปรับจูนบ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ทรัพยากรเดิม ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่จะคิดละกันว่ามันอยู่ในหัวข้อไหน

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top